เผยแพร่ |
---|
เมื่อเวลา 13.06 น.วันที่ 30 กันยายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภา โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงส่วนใหญ่ต้องการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ไม่เห็นด้วยกับการใช้เสียงข้างมาก แต่ให้ใช้วิธีเสียงข้างมาก 2 ชั้น ว่า จะต้องให้วุฒิสภามีมติหลังจากได้ส่งรายงานไปแล้ว จากนั้น กรรมาธิการจะมาพิจารณาว่าเห็นชอบอย่างไร ถ้าเห็นว่าควรกลับไป 2 ชั้น ซึ่งต่างจากสภาผู้แทนฯ ต้องมาพิจารณากันดู และอาจมีคณะกรรมาธิการร่วม ถ้าเป็นแบบนี้กฎหมายประชามติจะช้าออกไปและกระทบไทม์ไลน์แก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน จากที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 จะต้องทำประชามติ พร้อมกับการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ถ้าไม่ทันแสดงว่ากฎหมายนั้นต้องแยกไปพิจารณา ทางออกที่ดีที่สุดขณะนี้คือตัวแทนพรรคการเมือง หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ควรหารือร่วมกันว่าท้ายสุดจะเป็นอย่างไร
นายชูศักดิ์กล่าวว่า ตอนนี้มีข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยให้เขียนว่า สามารถที่จะเสนอญัตติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ถ้าผ่านสภาก็สามารถทำประชามติได้ทันที ขณะเดียวกันมีความเห็นจากนักวิชาการว่า สามารถทำประชามติ 2 ครั้งได้ ไม่ต้อง 3 ครั้ง ทางออกขณะนี้คือให้หัวหน้าพรรคคุยกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นนโยบายรัฐบาลควรเดินอย่างไร ในเมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำประชามติ 2 ครั้ง ถือเป็นการข้ามขั้นตอนหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้า และหากจะเดินหน้าจะเดินอย่างไรและมีทางเลือกอย่างไร
เมื่อถามว่า การพูดคุยกับหัวหน้าพรรคการเมือง ถือเป็นการส่งสัญญาณไปถึง ส.ว.จะให้ผ่านร่างแก้ไขด้วยหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า จะพิจารณากันเร็วๆ นี้ ปล่อยให้เป็นดุลพินิจว่าจะคุยกันอย่างไร
เมื่อถามย้ำว่า หากพรรคการเมืองพรรคหนึ่งเห็นด้วยส่งผลไปถึง ส.ว.ให้เห็นด้วยหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า อย่าพูดอย่างนั้น ไม่ดี เอาเป็นว่าให้มานั่งจับเข่าพูดคุยกัน
เมื่อถามว่า กฎหมายประชามติถือเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ใช่
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการยับยั้งต้องไม่ถึง 180 วัน ถ้าตั้งกรรมาธิการร่วมไม่ได้ก็ต้องยั้งไว้ 10 วัน นายชูศักดิ์หัวเราะและกล่าวว่า เป็นข้อกฎหมายที่ต้องไปดู