คลังเปิดทาง ก.ล.ต.คุมลงทุนบิตคอยน์ จี้ ธปท.แก้กม.รับมือ พบปี 60 ร้องเรียนหลอกลงทุนอืื้อ

“อภิศักดิ์” ไฟเขียว ก.ล.ต.เป็นตัวหลักคุม “เงินดิจิทัล” เร่งออกเกณฑ์รับมือแห่ระดมทุน จี้ธปท.แก้กม.ที่เกี่ยวข้อง เปิดสถิติปี”60 ร้องเรียนแชร์ลูกโซ่ 126 เรื่อง เผยคนถูกชักชวนลงทุนสกุลเงินดิจิทัลหลายรูปแบบ เช่น “One Coin-Das Coin” ยอมรับหลายกรณีเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ส่งไม้ต่อ “ปอศ.-ดีเอสไอ” สืบสวนเอาผิด

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผย เมื่อเย็นวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ได้หารือร่วมกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง รวมถึงคณะทำงานเพื่อศึกษาและเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล ที่มีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นประธาน ในเรื่องการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) สำหรับประเทศไทย

โดยได้ข้อสรุปเป็นแนวทางว่า จะต้องมีการควบคุมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลทั้งหลาย โดยได้มอบหมายให้ทาง ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่เรกูเลเตอร์ (ผู้กำกับดูแล) ซึ่งไม่ใช่ควบคุมเฉพาะเรื่อง initial coin offering (ICO) แต่จะให้ครอบคลุมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลทั้งหมด ส่วน ICO จะเป็นส่วนหนึ่งในนี้ ขณะที่ ธปท.จะทำหน้าที่ช่วยกำกับ พร้อมรับไปพิจารณาว่าจะต้องปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ธปท.ตรงไหนบ้าง

“หารือกันเรื่องคริปโตเคอเรนซี่ โดยหัวใจหลักก็คือว่า ต้องควบคุมให้ได้ แต่ว่าจะควบคุมอย่างไร ก็ต้องให้เขาไปดู ด้วยเทคโนโลยีของบล็อกเชน เป็นอะไรที่ควบคุมยาก ส่วนจะมีกฎหมายอะไรออกมา ก็ต้องดู ซึ่งเรื่องนี้คงต้องทำเร็ว เพราะตอนนี้มีหลายเจ้าที่ทำกันอยู่ (เสนอโปรดักต์ลงทุนที่เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล)” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน หรือประสบปัญหาเกี่ยวกับการเงินนอกระบบเข้ามาทั้งสิ้น 473 เรื่อง โดยแบ่งเป็น 1. ร้องเรียนที่เข้าลักษณะแชร์ลูกโซ่ รวม 126 เรื่อง 2. ร้องเรียนที่เป็นลักษณะขายตรงแอบแฝง 85 เรื่อง 3. ร้องเรียนที่เข้าข่าย FOREX 22 เรื่อง 4.ร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับ set index 5 เรื่อง และ 5 อื่น ๆ อีก 51 เรื่อง

นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการลงทุนสกุลเงินดิจิทัลด้วย ซึ่งกระทรวงการคลังเปิดรับการร้องเรียนผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สายด่วนโทร.1359, ตู้ ปณ.1359 ปณจ. บางรัก กรุงเทพฯ 10500, อีเมล์ : [email protected], เว็บไซต์ www.1359.go.th และรายงานผ่านคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามธุรกิจการเงินนอกระบบในส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด

“การร้องเรียนเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลก็มี แต่ตามสถิตินี้ไม่ได้แยกข้อมูลออกมา” นายพรชัยกล่าว

สำหรับการกำหนดนโยบายของประเทศไทยที่เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) นั้น โฆษก สศค.กล่าวว่า จะต้องรอคณะทำงานเพื่อศึกษาและเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล ที่มีผู้อำนวยการ สศค. เป็นประธาน และมีคณะทำงานจาก 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง ธปท. ก.ล.ต.และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายออกมาก่อน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลเข้ามา อาทิ การถูกชักชวนให้ลงทุนใน One Coin, Das Coin เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ แต่ยอมรับว่า การตีความเกี่ยวกับการลงทุนเงินดิจิทัลยังค่อนข้างยาก เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน ส่วนกรณีใดที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ก็จะส่งเรื่องให้หน่วยงานสืบสวนสอบสวนต่อไป ซึ่งหากผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างก็จะส่งไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

ทั้งนี้ กรณี “One Coin” ที่มีประชาชนร้องเรียนเข้ามามีหลายราย ทาง สศค.เห็นว่ามีลักษณะหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใกล้เคียงกับ “Bitcoin” จึงเป็นเงินที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย และเมื่อตรวจสอบพฤติการณ์ของบริษัท One Coin ก็พบว่ามีพฤติการณ์อันอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ก่อนหน้านี้ จึงมีการส่งเรื่องให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ตรวจสอบ และ ปัจจุบันก็ได้ส่งเรื่องให้ดีเอสไอแล้ว