เผยแพร่ |
---|
ชูศักดิ์ ยัน นายกฯ อิ๊งค์ ตั้ง ‘สุรพงษ์’ รมช.คมนาคม ถูกต้อง จวกนักร้อง ร้องจริยธรรมเป็นการเมือง ไร้สาระจนน่ารำคาญ จ่อฟ้องกลับตามกฎหมาย
เมื่อเวลา 13.05 น. วันที่ 16 ก.ย.2567 ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ฝ่าฝืนจริยธรรม แต่งตั้งนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็น รมช.คมนาคม ว่า ในความเป็นจริงนายสุรพงษ์ ไม่เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด
ส่วนการเลือกตั้ง นายก อบจ.กาญจนบุรี จากการตรวจสอบนายสุรพงษ์ ไม่มีคดีใดๆ นายกฯ ตั้งไปตามปกติ ไม่มีปัญหา แต่การร้องเช่นนี้อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่ามีการฝ่าฝืนจริยธรรมและมีความบกพร่อง
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตนตั้งข้อสังเกตว่าคำร้องประเภทนี้ที่สื่อใช้คำว่าเป็นนิติสงคราม และล่าสุดก็มีการร้องเรื่องทำมินิฮาร์ท ก็ถือว่าเป็นการเสียเวลาทำงานให้ประเทศ เราต้องมาหงุดหงิดกับเรื่องที่ไม่ได้มีสาระ
ขอฝากถึงองค์กรอิสระ เวลารับเรื่องเหล่านี้ ที่เขามีความฉลาด ตรงที่ไม่ยืนยันข้อเท็จจริงว่าผิดหรือไม่ผิด ขอให้สังเกตคำร้องของคนประเภทนี้ ที่จะออกมาในลักษณะ ระบุเพียงขอให้หน่วยงานนั้นๆ วินิจฉัยว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ การไม่ยืนยันคือแสดงว่ากลัวถูกฟ้องกลับ ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายดูแล้วว่าอาจมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการตามที่คิดว่าสามารถดำเนินการได้
“การที่เรียกฝ่ายกฎหมายมาประชุมในวันนี้ เพราะจะให้ดูประเด็นเหล่านี้เป็นพิเศษเพื่อให้จัดการตามกฎหมาย ตอบแทนกันบ้าง ทั้งนี้ หากรัฐบาลทำผิด หรือมีการทุจริตคอร์รัปชัน ร้ายแรงถึงสถานที่ไม่ควรดำรงตำแหน่ง ก็ว่ากันไป ไม่ใช่เรื่องเลย ผมว่าเรื่องนี้ไม่มีสาระอะไรเลย” นายชูศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่ากังวลว่าเรื่องนี้จะซ้ำรอยกับกรณีของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราระมัดระวังอย่างเต็มที่ เรื่องนายเศรษฐาที่ผ่านมา ถือว่าเป็นบทเรียน ฉะนั้น รัฐบาลของน.ส.แพทองธาร จึงตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีอย่างเข้มข้น และเราไม่อยากให้เรามาสู้โดยใช้วิธีแบบไร้สาระ จนน่าเบื่อ น่ารำคาญ
เมื่อถามว่าจะฟ้องกลับหรือใช้ช่องกฎหมายใดได้บ้างนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้เชิญฝ่ายกฎหมายมาแล้ว ซึ่งคงต้องดำเนินการจริงจัง และคงต้องดูว่าเข้าข้อกฎหมายที่ชัดเจนหรือไม่
เมื่อถามว่ามองว่าเป็นการเอาคืนกันหรือเป็นเกมการเมืองหรือไม่นั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นการเมืองแน่นอน เพียงแค่ว่าหากทำงานทางการเมือง ควรจะรู้เรื่องบ้าง ไม่ใช่สักแต่จะสู้กัน แต่ไม่ดูดุลพินิจว่าควรจะเป็นอย่างไร ถูกต้องสมควรมากน้อยเพียงใด
ต่อข้อถามว่ามีการมองว่าเป็นการสู้กันระหว่างคนบ้านป่ากับคนบ้านจันทร์ส่องหล้านั้น นายชูศักดิ์ หัวเราะ ก่อนกล่าวว่า ไม่รู้บ้านไหน แต่ในท้ายที่สุดถึงเวลาที่เราต้องทบทวนดูว่าควรทำกันอย่างไร หากบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ต้องทำงานกัน เราต้องดำเนินการ เพื่อให้การเมืองเดินต่อไปได้ ไม่ต้องมาพะว้าพะวง บางทีไร้สาระเกินไป
เมื่อถามว่าจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรมได้หรือไม่นั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ก็มีการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะนอกจากการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว รัฐบาลนี้จะสานต่อในแง่ของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมบางประเด็น เพื่อให้บ้านเมืองไปได้ เนื่องจากการร่างทั้งฉบับยังต้องรอการทำประชามติก่อน
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังคิดอยู่คือ กรณีที่เสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องมีความสำคัญมาก เช่น การยุบพรรค การเอาคนออกจากตำแหน่ง จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าต้องมีเสียง 2 ใน 3 หรือ 4 ใน 5 เนื่องจากจะได้เกิดความยุติธรรมขึ้นพอสมควร เพราะหากจะเอาคนออกจากตำแหน่ง แต่ชนะกันแค่ 5 ต่อ 4 ในเรื่องของความชอบธรรมก็น่าคิด เราจะแก้ไขในส่วนนี้ ซึ่งคาดว่าจะเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาฯ ได้ในเร็วๆ นี้ หรือในสัปดาห์หน้า
ส่วนที่พรรคประชาชนเตรียมแก้ไขร่างกฎหมาย ป.ป.ช. เกี่ยวกับการร้องจริยธรรม นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนนี้อาจจะยังไม่ตรงกันมากนัก เพราะพรรคประชาชนอาจจะให้ขอยกเลิกไปเลย แต่พรรคเพื่อไทยในขณะนี้เท่าที่คุยกัน ยังไม่น่าจะยกเลิกได้ เพราะเดี๋ยวจะหาว่าเราแก้ไขเพื่อตัวเอง ขอให้เอาที่สมเหตุสมผล แต่ยืนยันว่าจะทำให้รอบคอบรัดกุม และคิดว่าสามารถพูดคุยกันได้ อย่างไรก็ตาม คงเป็นการเสนอแยกกันและอาจจะมีร่างของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นอีก
เมื่อถามถึงร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า หากร่างกฎหมายประชามติผ่านวุฒิสภา ก็จะมีการเสนอเป็นร่างกฎหมาย ซึ่งจะถือว่าเป็นการเริ่มนับหนึ่ง เป็นการถามประชามติครั้งแรก