มติชน เปิดเสียงสามัญชน ขออย่าหมดหวัง แม้ถูกทำให้ไร้เสียง

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ Lido Connect Hall 2 สยามสแควร์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เครือมติชน จัดงาน ‘Talks for Thailand 2024 เสียง-สามัญชน’

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเมื่อเวลาราว 13.30 น. ประชาชนที่ลงทะเบียนล่วงหน้า ทยอยเดินทางมาเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแขกผู้มีเกียรติจากแวดวงต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. นายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการ กอง บก.มติชนสุดสัปดาห์ กล่าวเปิดเสียงสามัญชน

นายสุวพงศ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหา ตนในฐานะสามัญชนคนหนึ่ง เป็นสามัญชน ที่ถูกทำให้เป็นมนุษย์พันธุ์เสียงเบา หรือมนุษย์ชนชั้นไร้เสียงมาโดยตลอดชีวิตขัย เมื่อมาอยู่บนเวทีที่จะต้อส่งเสียงจึงมากด้วยความประหม่า และขาดซึ่งทักษะในการใช้เสียงนั้นจึงขออนุญาตที่จะส่งเสียงด้วยการอ่านตามบทที่เขียนขึ้นจากทักษะที่พอมีในฐานะคนทำสื่อจึงขออภัยอย่างสูง กับความอ่อนด้อยนั้น

นายสุวพงศ์ กล่าวว่า ขอขอบพระคุณ แขกผู้มีเกียรติ ที่มาร่วมรายการ Talks for Thailand 2024 เสียง-สามัญชน ในวันนี้ เมื่อกล่าวถึงคำว่า ‘สามัญชน’ แล้ว เชื่อว่าหลายท่านในที่นี้ ใจประหวัดไปถึงสามัญชนคนหนึ่ง นั่นคือ ‘สาย สีมา’ ที่ เสนีย์ เสาวพงศ์ สร้างขึ้นในนวนิยาย อมตะ ‘ปีศาจ’ และ สาย สีมา ก็เป็นอมตะที่สร้างแรง ‘ดาลใจ’ ให้กับสามัญชนทั้งหลาย แม้กระทั่งในปัจจุบัน แต่ในวันนี้ ขออนุญาตที่จะไม่กล่าวถึง สาย สีมา ที่ทุกท่านรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่อยากจะกล่าวถึงคนอย่าง โต น้อย เล็ก สามัญชนกลุ่มหนึ่ง ที่อยู่ในนวนิยาย ‘คนดีศรีอยุธยา’ของ เสนีย์ เสาวพงศ์

“ย้อนกลับไปปี 2524 มติชนสุดสัปดาห์ ได้นำเสนอ นวนิยาย ที่ เสนีย์ เสาวพงศ์ หวนกลับมาเขียนอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นไปหลายสิบปี นั่นคือ คนดีศรีอยุธยา เป็นคนดี ที่เกี่ยวโยงไปถึงสามัญชน อย่าง โต น้อย เล็ก ที่แม้จะไม่ใช่พี่น้องคลานตามกันมา แต่ก็ร่วมมือทุ่มเทพลังใจ พลังกาย และสติปัญญา เพื่อรวบรวมชาวบ้านที่แตกกระสานซ่านเซ็น หลังจากที่กรุงแตกให้กลับมาเป็นชุมชน เป็นสังคมใหม่ ชุมชน ที่ปลอดการกดขี่ ทุกคนเท่าเทียม เสมอหน้ากัน ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร จะทำอะไรก็ปรึกษากัน ไม่มีหัวหน้า ไม่มีลูกน้องเป็นชุมชนแห่งอุดมคติ ที่ทะเยอทะยานอย่างยิ่ง”

“เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียนคำสารภาพ ไว้เมื่อคนดีศรีอยุธยาถูกรวมเล่มว่าได้ใช้วิธีการจินตนิยม ในการสร้างงานเขียนนี้

แน่นอน เมื่อเป็นจินตนิยม หรือจิตนาการ ชุมชนสามัญชนของ โต น้อย เล็ก จึงอาจเป็นเพียงอุดมคติ ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่กระนั้น เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็ยังอยากจินตนาการ ยังอยากฝันถึงสังคมแห่งสามัญชนที่สักวันหนึ่งจะเกิดขึ้นจริงโดยเชื่อถึงพลังของสามัญชน

ดังที่ เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียนไว้ ว่า เมื่อเดินย้อนรอยถอยหลังไปในแผ่นดินของประวัติศาสตร์ ที่ส่วนใหญ่ว่างเปล่า เลาะเล็มไปตามต้นไม้ใหญ่ ที่ได้รับการบรรจุอยู่ในประวัติศาสตร์แน่นอนแล้ว บนอาณาบริเวณที่รกร้างว่างเปล่าที่ไม่มีการกล่าวถึงแม้สักวรรคหนึ่งหรือบรรทัดหนึ่งนั้น มีพืชคลุมดินอีกมากมาย ที่ดูก็เหมือนไม่มีความสำคัญ มันขึ้นอยู่ และเหี่ยวแห้งตายไปตามกาลเวลาแต่ก็มีการเกิดขึ้นใหม่ เข้ามาทดแทนอย่างต่อเนื่องยาวนานไม่ขาดสาย เสนีย์ เสาวพงศ์ บอกว่า ผมพยายามขุดหารากเหง้าของสิ่งเหล่านี้ด้วยจินตนาการที่มีอย่างจำกัด ท่ามกลางป่าละเมาะที่มีไม้แก่น ที่แกร่งกล้าของบางระจัน คงจะมีต้นหญ้าหรือต้อยติ่งขึ้นอยู่บ้าง ผมไม่ได้ค้นพบอะไรใหม่ในประวัติศาสตร์และผมเชื่อว่า ผมไม่ได้ปลอมประวัติศาสตร์” นายสุวพงศ์ กล่าว

นายสุวพงศ์ กล่าวต่อไปว่า แน่นอนว่า ประวัติศาสตร์ที่ไม่ปลอมนั้นย่อมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และ ต่อไปในอนาคต สามัญชน อันเปรียบได้กับ พืชคลุมดิน ต้นหญ้าหรือต้นต้อยติ่ง อันมีอยู่มากมายในชุมชน สังคม และในชาติแห่งนี้ เพียงแต่ไม่อาจแสดง หรือได้การยอมรับในศักยภาพของสามัญชนว่าสามัญชนคือพื้นฐานอันสำคัญในการสร้างชุมชน สังคม และชาติ ชาติที่ทุกคน ‘เท่าเทียม เสมอหน้ากัน’

“ยิ่งกว่านั้น ในบางช่วง บางขณะ หรือแม้กระทั่ง ในปัจจุบันนี้ เสียงของสามัญชน นอกจากจะไม่สามารถเปล่งศักยภาพออกมาได้ ยังถูกกดทับ ปิดกั้น มิให้สามัญชนเปล่งเสียงออกมา มองเข้าไปในสังคม โดยเฉพาะสังคมการเมืองขณะนี้ เรามีนายกรัฐมนตรีใหม่มีรัฐบาลใหม่

แต่ถามว่า สิ่งใหม่เหล่านั้น ยึดโยงกับประชาชน หรือสามัญชน อย่างพวกเรามากน้อยเพียงใด เสียงส่วนใหญ่ กลับถูกปฏิเสธ โดยกลไกรัฐธรรมนูญ กฏหมาย องค์กรอิสระ ที่สืบทอดมาจากคณะรัฐประหารทำให้ เรื่องอำนาจ เรื่องรัฐบาล เรื่องชาติบ้านเมือง อยู่ในมือกลุ่มอภิสิทธิชน มิใช่สามัญชน อย่างที่ควรจะเป็น

แม้จะเป็นเรื่องที่น่าท้อแท้ เบื่อหน่าย สิ้นหวัง กับสามัญชน ที่ถูกทำให้ไร้เสียง หรือไม่ก็เป็นเพียงเสียงที่แผ่วเบา แต่กระนั้นเราก็คงต้องมีความหวัง อย่างเช่นที่เสนีย์ เสาวพงศ์หวังว่า สังคมนี้ยังมีพืชคลุมดินอีกมากมาย
ที่แม้ดูเหมือนไม่มีความสำคัญ ขึ้นอยู่ และเหี่ยวแห้งตาย ไปตามกาลเวลา

แต่ก็มีการเกิดขึ้นใหม่เข้ามาทดแทนอย่างต่อเนื่องยาวนานไม่ขาดสาย และพยายามจะส่งเสียงของเรา สามัญชนให้ก้องกระจายด้วยพลัง อย่างเมล็ดต้อยติ่งนั้น เพื่อให้เกิดสังคมและชาติ เท่าเทียม เสมอหน้ากัน

และแน่นอนสิ่งที่ ‘เครือมติชน’ นำเสนอผ่านเวที นี้ ก็เพื่อร่วมกันส่งเสียงยืนยันว่า ประเทศนี้เป็นของสามัญชนไทยทุกคน และเสียงนี้ ล้วนมีความหมายต่อการกำหนดทิศทางความเป็นไปของชาติบ้านเมือง

สิ่งที่ อาจารย์กษิดิศ อนันทนาธร และอาจารย์ ‘ณัฐพล ใจจริง’ จะถ่ายทอดบนเวทีจากนี้ต่อไป จะยืนยันบทบาทของสามัญชนนี้ บทบาทแห่งความมุ่งมั่นของ ‘สามัญชน’ และ ‘เสียงประชาชน’ ที่จะเป็นพลังร่วมกันสร้างชาติ ขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้า

เช่นเดียวกับศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในฐานะนักวิชาการลูกชาวบ้าน จากบ้านโป่ง ราชบุรี ที่จะนำเสนอเสียงของสามัญชน ผ่านถ้วยสาเก ไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันน่าทึ่ง และน่าเรียนรู้ของสังคมญี่ปุ่น ว่าทำไมวันนี้ สามัญชนญี่ปุ่น จึงเขยิบเข้าใกล้สังคมแห่งความเท่าเทียม เสมอหน้ากัน

ซึ่งแน่นอน ในตอนท้ายสุด อาจารย์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ จะมาร่วมต่อภาพสามัญชนที่จะมาร่วมสร้างสังคมไทย อย่างมีเกียรติ อย่างมีศักดิ์ศรี และอย่างเท่าเทียมต่อไป” นายสุวพงศ์ กล่าว

นายสุวพงศ์ กล่าวว่า ขอขอบพระคุณสามัญชนผู้มีเกียรติอีกครั้งที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ และขอให้มีพลัง อย่างต้นต้อยติ่งที่ดีดเมล็ดพันธ์แห่งความหวังและความฝันออกไปโดยกว้างขวาง ว่าสามัญชนมีสิทธิมีเสียง สร้างชุมชน สังคมและชาติอันเท่าเทียมและเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด

“ผมหวัง และคิดว่าทุกคนในที่นี้ก็มีความหวัง” นายสุวพงศ์ ทิ้งท้าย