เผยแพร่ |
---|
“ครูจวง” เสนอมาตรการเร่งด่วน คุ้มครองสิทธิการศึกษาลูกหลานแรงงานข้ามชาติ หลัง ศธ. สั่งปิดศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะ แนะระยะยาวรับฟังความเห็นรอบด้าน ออกแบบจัดการศึกษานักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร
.
วันที่ 10 กันยายน 2567 ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีกระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะ จ.สุราษฎร์ธานี ส่งผลให้เด็กนักเรียนลูกหลานแรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่มีที่เรียนว่า เหตุการณ์นี้มีความซับซ้อน ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่านักเรียนส่วนใหญ่ในศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะรวมทั้งศูนย์การเรียนรู้อื่น ๆ ใน จ.สุราษฎร์ธานีนั้น เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยสงครามจากเหตุการณ์การสู้รบในประเทศเพื่อนบ้าน และลูกหลานแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีทั้งที่เกิดในประเทศไทยและเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน
.
พ่อแม่ของเด็กๆ เหล่านี้เข้ามาทำงานในหลายอาชีพที่ปัจจุบันคนไทยไม่ทำกันแล้ว ในช่วงกลางวันที่พ่อแม่เขาไปค้าแรงงาน เราจึงควรจัดการศึกษาให้พวกเขาได้เรียนหนังสือ ซึ่งเป็นการมอบสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ให้กับพวกเขา และยังเป็นการพัฒนาความรู้และทักษะเพื่อที่เมื่อเติบโตขึ้น ไม่ว่าพวกเขาจะกลับไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านหรือยังคงทำงานอยู่ในประเทศไทย จะได้เติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองโลกที่มีทักษะความรู้ หรือถ้าพวกเขาทำงานต่อในประเทศไทย ประเทศเราก็จะได้แรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอีกหลายประเภทที่ปัจจุบันกำลังขาดแคลนแรงงาน
.
ปารมีกล่าวต่อว่า สำหรับศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะแห่งนี้ เคยขอจดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยสำเร็จ ทางเขตพื้นที่ไม่อนุมัติมาโดยตลอด ทางศูนย์ฯ ได้ปรึกษากับศึกษาธิการจังหวัดมาแล้วหลายครั้ง เพื่อขอใช้ช่องทางทางกฎหมายอื่น ๆ ในการจดทะเบียนให้ถูกต้อง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ตนทราบดีว่าขั้นตอนการจดทะเบียนศูนย์การเรียนรู้ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีปัญหายุ่งยากมาก Home school และศูนย์การเรียนรู้หลายแห่งก็ไม่สามารถจดทะเบียนได้ เรื่องนี้เป็นอีกประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ด้วย
.
ตนจึงขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการแก้ไขปัญหานี้ โดยแบ่งออกเป็นมาตรการระยะสั้นเร่งด่วนและมาตรการระยะยาวเพื่อแก้ไขอย่างเป็นระบบ มาตรการระยะสั้นเร่งด่วนนั้น กระทรวงฯ ต้องเร่งเข้าช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิทางการศึกษา รวมถึงต้องเร่งเข้าคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กกลุ่มนี้ที่กำลังเคว้งคว้างและเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาและเสี่ยงต่อการถูกคุกคามในทุกรูปแบบ
.
ส่วนมาตรการระยะยาว กระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มต้นจากการมีข้อมูลและตัวเลขของเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือนักเรียนรหัส G หรือเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่ครบถ้วนถูกต้องและแยกแยะประเภทของกลุ่มนี้ว่ามีอะไรบ้าง เพราะเด็กกลุ่มนี้แต่ละประเภทมีปัญหาไม่เหมือนกัน จึงแก้เหมือนกันไม่ได้ ซึ่งตนและคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยหรือนักเรียนรหัส G โดยได้แยกประเภทของเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร ออกเป็น 7 กลุ่ม ซึ่งอาจจะมีมากกว่านี้ก็ได้ ประกอบด้วย
.
(1) กลุ่มลูกหลานชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาและอาศัยอยู่มานาน (2) กลุ่มเด็กเร่ร่อน (3) กลุ่มคนไทยตกหล่นและคนไทยพลัดถิ่น (4) กลุ่มบุตรผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทย (5) กลุ่มบุตรผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย (6) กลุ่มนักเรียนที่ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนและเดินทางเข้ามาเรียนหนังสือในไทยแบบไปเช้าเย็นกลับ และ (7) กลุ่มนักเรียนที่ไม่สามารถติดตามตัวได้เนื่องจากย้ายที่อยู่ เสียชีวิต หรือกลับภูมิลำเนาไปแล้ว
.
ปารมีกล่าวต่อว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องฟังความคิดเห็นให้รอบด้านต่อกรณีการจัดการศึกษาให้เด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือนักเรียนรหัส G ซึ่งต้องมีวิธีการจัดการศึกษาให้พวกเขาที่หลากหลายรูปแบบ เช่นเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เกิดนอกประเทศไทยและติดตามพ่อแม่เข้ามาทำงาน เด็กกลุ่มนี้อาจจะมีความรู้ภาษาไทยที่ยังไม่ดีพอ จะจัดให้พวกเขาเข้าไปเรียนในโรงเรียนระบบไทยไม่ได้ เพราะเขาจะเรียนตามเพื่อนไม่ทันและจะเกิดความแปลกแยกจนถึงอาจถูกกลั่นแกล้งและถูกเลือกปฏิบัติ จำเป็นต้องมีการจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม โดยอาจให้เขารวมตัวกันตั้งศูนย์การเรียนรู้ในรูปแบบเฉพาะ หรือจะใช้วิธีการตั้งโรงเรียนเอกชนนอกระบบหนึ่งในเจ็ดประเภทตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนก็ได้ ซึ่งกฎระเบียบตรงนี้คิดว่ากระทรวงศึกษาธิการ สามารถแก้ไขหรือออกแบบขึ้นมาได้
.
ในส่วนของการจดทะเบียนศูนย์การเรียนรู้ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีปัญหาหลายจุดมาก ปัจจุบัน Home school และศูนย์การเรียนรู้หลายแห่งก็จดทะเบียนกันไม่ได้ ตนเห็นตรงกับข้อเสนอของสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการ ในหลักการที่ว่าควรปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการจดทะเบียนศูนย์การเรียนรู้ ที่ปัจจุบันเป็นอำนาจการพิจารณาของ ผอ.เขตพื้นที่ สังกัด สพฐ. ไปเป็นอำนาจการพิจารณาของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ที่มีภารกิจส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง Home school และศูนย์การเรียนรู้มากกว่า
.
เหล่านี้เป็นข้อเสนอแนะบางส่วนของตนต่อกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะเร่งนำไปพิจารณาและเร่งปฏิบัติอย่างรวดเร็วเพื่อเป็นการค้ำประกันสิทธิการศึกษาของมนุษย์ทุกคนในเขตแดนรัฐไทย ให้สมกับที่ประเทศไทยเพิ่งรับรองข้อที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในการคุ้มครองดูแลเด็กคนหนึ่ง ทั้งด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล ให้เด็กเจริญเติบโตทั้งกายและใจ และให้สมกับที่ประเทศไทยลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในวาระปี ค.ศ. 2025-2027 ซึ่งเราต้องแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงความตั้งใจจริงและความมุ่งมั่นต่อหลักการสากลในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กทุกคนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ