‘นันทนา’ ตั้ง 5 ข้อสังเกตจัดงบ’68 ดึงสติอย่าเทงบให้ดิจิทัลวอลเล็ต-ซอฟต์พาวเวอร์มากไป ชี้ประเทศไม่เดินหน้าเหตุการเมืองวุ่น

‘นันทนา’ ตั้ง 5 ข้อสังเกตจัดงบ’68 ดึงสติอย่าเทงบให้ดิจิทัลวอลเล็ต-ซอฟต์พาวเวอร์มากไป ชี้ประเทศไม่เดินหน้าเหตุการเมืองวุ่น

เมื่อเวลา 11.35 น. วันที่ 9 กันยายน ที่รัฐสภา ในการอภิปรายงบ 68 ของ ส.ว. นางนันทนา นันทวโรภาส ส.ว. อภิปรายว่า ขอตั้งข้อสังเกตกับการจัดงบประมาณปี 2568 ใน 5 ประเด็น โดยประเด็นแรกเราต้องรู้ว่าตอนนี้เราอยู่ภาวะไม่ปกติ เป็นภาวะเศรษฐกิจของไทยขยายตัวต่ำมาก ซึ่งในภาวะไม่ปกติเช่นนี้เราจะมาจัดงบราวกับว่าเป็นภาวะปกติไม่ได้ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วรัฐบาลพรรคเพื่อไทยควรทำงบประมาณอย่างมียุทธศาสตร์ ไม่ใช่ให้ข้าราชการประจำทำ แล้วไปทุ่มงบไปกับดิจิทัลวอลเล็ต และซอฟต์พาวเวอร์หมดหน้าตัก ประเด็นที่สอง เราเห็นแล้วว่างบค่าใช้จ่ายประจำ หรืองบที่เป็นบุคลากรภาครัฐ เป็นภาระยิ่งใหญ่ของการคลังในปี 68 แค่งบด้านบุคลากรรัฐก็สูงถึง 68.2% เหลืองบไปทำอย่างอื่น 31.8% แล้วงบประมาณแบบนี้จะเหลือไปฟื้นฟูประเทศได้อย่างไร ประเด็นที่สาม ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศเราจะหันมาดูเรื่องโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ มีการตั้งหน่วยภาครัฐที่ทับซ้อนกัน ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่รัฐบาลจะปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ ประเด็นที่สี่ ตนอยากเห็นกระบวนการทำงบประมาณที่ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ไม่ใช่ให้หน่วยราชการคิดทำกันไปเอง ฝากให้รัฐบาลในช่วงทำงบประมาณ 3 เดือนแรกให้ปรึกษาหารือกับประชาชน และประเด็นที่ห้า ในสิบปีนี้ประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศมากในเกณฑ์ที่สูงกว่าไทย 4-5 เท่า ทำให้สองประเทศนั้นเดินล้ำหน้าไปกว่าเรา ทั้งที่ไทยเราไม่ได้มีอะไรที่ด้อยไปกว่าสองประเทศนั้น แต่สิ่งที่สองประเทศนั้นไม่มีแล้วเรามีคือ ปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง และปัญหาคุณภาพการศึกษาของไทย

โดยใน 10 ปีที่ผ่านเราวุ่นวายกับการเมืองจนกลายเป็นความเคยชินแบบนิวนอร์มอล ซึ่งจริงแล้วไม่ใช่เลย และมีการตั้งข้อสงสัยว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนั้นมาจากระบบศาล โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเข้าไปในศาลเราก็มีการใช้นิติสงครามกันอย่างเมามัน ทุกๆ เดือนประเทศเราจะมีข่าวออกจากศาลให้ได้อกสั่นขวัญแขวน จนเกิดอาชีพใหม่ที่เรียกว่า นักร้อง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งก็ถูกร้อง 9 คดีแล้ว สิ่งเหล่านี้สร้างความมึนงงให้กับวงการกฎหมายทั่วโลก ดังนั้นการให้งบประมาณเหล่านี้นั้นสำหรับองค์กรอิสระที่ทำให้คนสงสัยว่าเรายังมีระบบยุติธรรมหลงเหลืออยู่หรือไม่ ดังนั้นขอตั้งโจทย์ว่าเราจะตั้งงบประมาณที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างไร

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ยอมรับว่าในข้อห่วงใยการจัดเก็บรายได้ในปี 2567 ที่อาจจะจัดเก็บที่พลาดเป้า จากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ให้ความช่วยเหลือด้านรายได้พลังงาน จนทำให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้พลาดเป้าไป แต่การจัดเก็บรายได้ที่เหลืออีก 1 เดือนนี้เชื่อว่าต่อไปจะไม่พลาดเป้า ส่วนเรื่องรายจ่ายประจำที่มีการถีบตัวสูงขึ้น ซึ่งเรารัฐบาลเองมีแผนที่จะลดกำลังพลมีแผนเรื่องของใช้เทคโนโลยี และเรื่องที่เราเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นแอพพลิเคชั่น ทางรัฐ เป็นการยืนยันว่าในวันข้างหน้าเราจะให้บริการประชาชนผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น และลดกำลังพลลงได้