สส.ประชาชน ชวนฟัง เสียง – สามัญชน และถ้วยสาเกของ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ”

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 นายเชตวัน เตือประโคน ส.ส.ประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “เชตวัน เตือประโคน – Chetawan Thuaprakhon”
[เสียง – สามัญชน และถ้วยสาเกของ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” ]
“สาเกรสเลิศ คนที่ชวนชนจอกนั่นคือผู้ที่เรานับถือ คือผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังเป็นหลักปักมั่นให้คนรุ่นหลังได้พึ่งพิง ไม่ใช้ไม้หลักปักเลนหรือคนที่แก่แล้วแก่เลยอย่างที่เห็นเกลื่อนกลาดดาษดาในประเทศนี้”
.
เป็นความรู้สึกของผมที่เกิดขึ้นภายหลังการแสดงที่มีชื่อว่า “An Imperial Sake Cup and I : A lecture performance by Charnvit Kasetsiri”
.
ครับ, คือ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของสยามประเทศไทย คนที่ช่วยเปิดโลกประวัติศาสตร์/การเมือง ให้กับผมในฐานะลูกศิษย์ผ่านตำรา ผ่านงานเสวนาวิชาการ ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าห้องเรียนแบบที่ต้องมีการตัดเกรดจากอาจารย์เลยแม้แต่รายวิชาเดียว
ส่วนตัวเล็กน้อย — ผมรู้จัก อ.ชาญวิทย์ ผ่านผลงาน, มีโอกาสได้รู้จักตัวตนจริงๆ ก็ผ่านเวทีเสวนา และร่วมเดินทางท่องเที่ยวในที่ต่างๆ อยู่บ้าง เช่น ครั้งหนึ่งที่เราลงรถทัวร์ไปขนหินขนดินเพื่อถมถนนเพื่อในรถไปต่อได้ ในเมียนม่า ทริปที่เราไปเรียนรู้เรื่องราวของชาวพยู หรือครั้งหนึ่งที่อีสานใต้ มุ่งหน้าลงกัมพูชาทางช่องจอม จ.สุรินทร์ ที่ อ.ชาญวิทย์เปิดโอกาสให้ผมได้บรรยายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีสานใต้ให้กับผู้ร่วมเดินทาง ฯลฯ
.
ในวิกฤต “การเมืองเหลืองแดง” มาจนถึงวิกฤต การเมือง “สลายขั้ว” หรือ “ตระบัตย์เพื่อชาติ” ที่ใครต่อใครแบกเหตุผลสารพัดเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง อ.ชาญวิทย์ ก็ยังคงเป็นหลักให้เรายึดมั่นไม่เปลี่ยนแปลง
.
กลับมาที่เรื่อง “An Imperial Sake Cup and I”
ผมได้ชมการแสดงที่เรียกว่าเป็น “A lecture performance” ของ อ.ชาญวิทย์ ที่โรงละคร คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยคำชักชวนของพี่ภาส หรือ อ.ภาสกร อินทุมาน อาจารย์คณะศิลปศาสตรบัณฑิต (การละคอน) ที่รู้จักมักคุ้นกันมาตั้งแต่ผมยังเป็นอาสาสมัครตามองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ เราใช้งานศิลปะต่อสู้กับการกดขี่ การทำลายทุนชุมชน ทุนวัฒนธรรมต่างๆ เท่าที่จะพอทำได้ แพ้บ้าง ชนะบ้าง แต่โดยมากแล้วแพ้ ก็อย่างที่เห็นการผูกขาดของบรรดาทุนใหญ่ที่เป็นอยู่ในตอนนี้
.
“An Imperial Sake Cup and I” คือรสชาติอร่อย แปลกใหม่ ของวงการละครเวทีของบ้านเรา
.
“An Imperial Sake Cup and I ” คือรสชาติอร่อย แปลกใหม่ ของการบรรยายสาธารณะ ที่ดึงเอาเราเข้าไปโลดแล่นอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้น อย่างมีอารมณ์ร่วม
.
และแน่นอนว่าเรื่องราว “ถ้วยสาเก” ที่เป็น “พระเอก” ของเรื่อง ซึ่ง อ.ชาญวิทย์ ได้มาเพราะเพราะความบังเอิญตอนไปทำงานในทีมรับเสด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ นั้น ก็เป็นสัญลักษณ์ที่พาเราไปสู่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะประวัติศาสตร์ส่วนตัวของชาว “บ้านโป่ง” จ.ราชบุรี อย่าง อ.ชาญวิทย์ รวมถึงประวัติศาสตร์ในภาพใหญ่ระดับประเทศ ระดับโลก ผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นยกทัพผ่านไทย และมี “วิกฤตบ้านโป่ง” ซึ่งเริ่มต้นด้วยการที่ทหารญี่ปุ่นตบหน้าพระไทย เป็นซับเซตของเหตุการณ์ใหญ่
.
อ.ชาญวิทย์ เก็บรักษา “ถ้วยสาเก” สีแดงชาด มีรูปดอกเบญจมาศอยู่ตรงกลางไว้อย่างดี และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นให้กลายเป็นนักสะสมถ้วยสาเกด้วยในเวลาต่อมา
.
และลวดลายบนถ้วยสาเกญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ผูกติดหรือมีความหมายอยู่กับแค่สถาบันกษัตริย์ที่ทำให้แกได้รับถ้วยนี้มา หากแต่อยู่กับ “สามัญชน” คนธรรมดาด้วย ยกตัวอย่าง ลวดลายกุ้งตัวงอ ที่หมายถึง ถ้าดื่มแล้วอายุยืน สื่อถึงอยู่นานจนตัวงอ เป็นต้น
.
ผมว่านี่คือหัวใจสำคัญของเรื่องเล่านี้ — ความเป็น “สามัญชน”
.
เพราะแม้จะเล่าเรื่องผ่านถ้วยสาเกที่ได้จากสถาบันกษัตริย์ ซึ่งไทยกับญี่ปุ่นก็มีประมุขของประเทศเป็นกษัตริย์เหมือนกัน หากแต่โลกที่หมุนไป ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อนาคตที่จะเดินไปสู่ น่าสนใจว่าจะปรับตัวอย่างไร ซึ่งตอนท้ายๆ ของการแสดงครั้งนั้น ที่ปรากกฏคลิปวีดีโอซึ่ง อ.ชาญวิทย์ กำลังถือถ้วยสาเกเดินอยู่ในงานอะไรบางอย่าง ที่ อ.ชาญวิทย์ บอกว่า กลับไปเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิอากิฮิโตะก่อนทรงสละราชสมบัติเมื่อปี 2019 นั้น ความรู้สึกของผมลุ้นระทึกพอๆ กับภาพยนตร์ทริลเลอร์ เลยทีเดียว
.
ในการแสดงที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ครั้งนั้น นอกจากผมจะตื่นเต้นกับเรื่องเล่าของ อ.ชาญวิทย์ แล้ว ผมยังต้องตื่นเต้นกับคนที่นั่งชมอยู่ข้างๆ กัน ซึ่งล้วนแต่บรรดา “คนดัง” ไม่ว่าจะเป็น อ.วิโรจน์ ตั้งค้าวาณิชย์ นักวิชาการ / พิธีกร / นักกิจกรรมผู้สร้างให้งิ้วธรรมศาสตร์โด่งดัง, ไม่ว่าจะเป็น อดิศักด์ ศรีสม เจ้าของรายการประวัติศาสตร์นอกตำรา ผู้มีเสียงทุ้มหล่อเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งผมเองเป็นแฟนรายการนี้ และน่าจะได้ดูครบแล้วทุกตอน
.
รวมถึงคณะผู้บริหารของ “เครือมติชน” นำโดย คุณปานบัว บุนปาน ที่มากันเยอะแยะมากมาย ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ “เครือมติชน” คิดที่จะรื้อฟื้น “An Imperial Sake Cup and I : A lecture performance by Charnvit Kasetsiri” กลับมาอีกครั้งหรือไม่
.
โดยใช้ชื่อเวทีนี้ว่า “Talks for Thailand เสียง-สามัญชน” ที่นิยามไว้ว่าเพื่อร่วมกันส่งเสียงยืนยันว่า ประเทศนี้ เป็นของคนไทยทุกคน ที่ล้วนมีความหมายต่อการกำหนดทิศทางความเป็นไปของชาติบ้านเมือง ดังที่ปรากฏในการเลือกตั้งในปี 2566 มาแล้ว
.
และเวทีนี้ ระดมนักวิชาการชั้นนำของประเทศ ร่วมเสวนา สะท้อนภาพความสำคัญของสามัญชน ได้แก่ กษิดิศ อนันทนาธร นักวิชาการรุ่นใหม่ ขึ้นเวทีกล่าวถึงสามัญชนที่สร้างชาติ, ณัฐพล ใจจริง นักวิชาการ เจ้าของผลงาน ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี และหนังสือ ราษฎรปฏิวัติ ฯลฯ ขึ้นเวทีฉายภาพ บทบาทพลเมืองไทยในช่วงต้นรัฐประชาชาติ
และจากนั้นก็เป็น An Imperial Sake Cup and I : A lecture performance by Charnvit Kasetsiri” โดยมี
.
ปิดท้ายที่ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” นักวิชาการอิสระชื่อดัง ที่จะสรุปเนื้อหาทั้งหมด เพื่อตอกย้ำให้เห็นคุณค่าแห่งเสียง – สามัญชน
.
ผมกำลังลุ้นอยู่ว่าจะมีโอกาสได้ไปร่วมงานนี้หรือไม่ ด้วยวันดังกล่าวนั้น มีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา
.
“Talks for Thailand 2024 เสียง-สามัญชน” จัดขึ้น พฤหัสบดีที่ 12 กันยายน นี้ เวลา 14.00 – 16.30 น. ที่ Lido Connect Hall 2 สยามสแควร์
.
งานนี้ฟรี แต่ต้องสำรองที่นั่ง และมีการคัดสรรผู้สนใจตามจำนวนจำกัด โดยคลิกเลยที่ลิ้งก์ https://bit.ly/TalksForThailand2024
.
ไปจิบสาเกอุ่นๆ และชนจอกกับ อ.ชาญวิทย์ ครับ