“ชวน”​ ยัน​จุดยืน​ไม่ร่วมรัฐบาล “เพื่อไทย​“ แต่ไม่ขัดมติพรรค ยอมรับมีบางคนดิ้นรนอยากร่วม

“ชวน”​ ยัน​จุดยืน​ไม่ร่วมรัฐบาล “เพื่อไทย​“ แต่ไม่ขัดมติพรรค ยอมรับมีบางคนดิ้นรนอยากร่วมรบ.วอนอย่าเหมารวมทั้งพรรค ขอ​ ส.ส.ทำหน้าที่ฝ่ายค้านเต็มที่​ อย่ากลัวเขาโกรธไม่ให้ร่วมรัฐบาล​

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 20 สิงหาคม 2567 ที่พรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุมส.ส.ประจำสัปดาห์ เพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธและพฤหัส โดยไม่ได้มีวาระอะไรพิเศษ แต่จากการสังเกตพบว่า มี ส.ส.เข้าประชุมบางตา แม้แต่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคฯ และ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา เลขาธิการพรรคฯ ก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ทั้ง 2 คนได้เดินทางมา ที่ทำการพรรคฯ ตั้งแต่ช่วงสาย และได้เดินทางออกไปจากที่ทำการพรรคในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยไม่ได้บอกกับเจ้าหน้าที่ไว้ว่าจะกลับมาร่วมประชุมกับส.ส.หรือไม่

ขณะที่ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางเข้ามาร่วมประชุม โดยปฏิเสธให้สัมภาษณ์ ถึงกระแสข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย

ด้าน นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึง​กระแสข่าว ที่พรรคประชาธิปัตย์​จะร่วมรัฐบาล​ ว่า​ ขณะนี้ยังไม่มติของพรรค​ และท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรประชาธิปัตย์ จะต้อง​เคารพมติพรรค ​ยกตัวอย่างการร่วมรัฐบาลที่ผ่าน กับ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ ว่ามี​ 2 เงื่อนไข​ คือ​ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ และผลักดันนโยบายประกันรายได้​

“ขณะนี้ยังไม่ได้มีมติว่า จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ แต่กลับมีการนำเสนอข่าวว่า เป็นเหมือนพรรคสำรอง พรรคอะไหล่ รอจะเสียบ ทำให้ผู้ที่สนับสนุนพรรคเสียใจ เพราะถือเป็นพฤติกรรมของคนที่ดิ้นรนอยากเป็นรัฐบาลก็มีอยู่จริง จึงอยากให้แยกแยะ ระหว่างพฤติกรรมของพรรคฯ กับพฤติกรรมของคนบางคน​ แต่ถ้าอยากให้ร่วมก็ไม่เป็นไร ตนอยู่มา 50 ปีไม่เคยขัดมติพรรค ถึงจะไม่เห็นด้วยเราก็ปฏิบัติตามมติพรรค เพราะระบบพรรคการเมืองมันอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่ขอออกความเห็นว่า หากประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลจริงควรจะมีเงื่อนไขอะไร เนื่องจากผมไม่ใช่กรรมการบริหารพรรค เพียงแค่มีจุดยืนส่วนตัวว่า ไม่ร่วมตั้งแต่ต้น​ เพราะไม่อยากถูกประนามว่าทรยศชาวบ้าน แม้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนท่วมท้น แต่ในภาคใต้ไม่มีส.ส.แม้แต่คนเดียว”นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมองว่า หากพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านก็ต้องทำหน้าที่ของฝ่ายค้านจริงๆ​ แต่ถ้าหากเป็นฝ่ายค้านแล้วลังเลใจ เวลามีมติอะไรก็ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวเขาจะโกรธ และไม่ให้ร่วมรัฐบาล เพราะการเป็นฝ่ายค้าน แม้ส.ส.น้อย แต่สามารถทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้

นายชวน​ กล่าวอีกว่า​ ในฐานะที่ตนเป็นส.ส.​ทำหน้าที่นิติบัญญัติ​ อะไรที่ดีก็พร้อมสนับสนุน​ เพราะหากทำผิดก็จะเถียงยาก​ ทางออกที่ไม่ให้ถูกยุบพรรค คือไม่กระทำผิด หรือไปแก้กฎหมายในอนาคต ไม่ใช่ให้ยุบทั้งพรรคแต่ให้มีโทษกับผู้ที่กระทำความผิดเป็นรายบุคคล​

“ระบบพรรคการเมืองเป็นแบบนี้ ผมอยู่มา 50 ปี ไม่เคยขัดมติพรรค​ ระบบพรรคมีของดีอยู่แบบนี้ ถึงอยู่มาได้ยาวนาน หากไม่มีของดีอยู่บ้างพรรคก็อยู่ไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์เคยถูกฟ้องยุบพรรคมาแล้ว 2-3 ครั้ง​ โดยพรรคไทยรักไทยเป็นผู้ร้อง แต่ประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบกลับมีมติเอกฉันท์​ ให้ยุบพรรคไทยรักไทย มีคนนำเงินไปยื่นให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 30 ล้านบาท​ เมื่อมีคนด่าตุลาศาลรัฐธรรมนูญ​ ผมเป็นคนหนึ่งที่มองว่าซื่อตรง​ เรื่องยื่นเงิน​ 30 ล้านบาท แดงขึ้นมา​ คนวิ่งเต้นเป็นรุ่นน้องที่ธรรมศาสตร์​ ครั้งแรกให้ไป​ 15 ล้านบาท ถูกปฏิเสธ จึงตามไปถึงที่บ้าน และเสนอเงิน 30 ล้านบาท ผมไม่อยากจะเอ่ย เพราะมันจะกระทบถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และยังมีตัวตนอยู่ในทุกวันนี้​ และเป็นกลุ่มธุรกิจการเมือง” นายชวนกล่าว