ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5:4 ‘เศรษฐา’ พ้นเก้าอี้นายกฯ ปมตั้ง ‘พิชิต’ นั่ง รมต.สำนักนายกฯ ทั้งที่รู้ขาดคุณสมบัติ ครม.หลุดทั้งคณะ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมโดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณาและลงมติ ในคดีที่สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน ยื่นเรื่องผ่าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

หลังพบว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นที่ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา สิ้นสุดลงได้

จากกรณี นายเศรษฐา นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกา มีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

อ่าน ด่วน ศาลรธน.มีมติเสียงข้างมาก รับคำร้อง 40 สว. แต่ไม่สั่ง เศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่
อ่าน เศรษฐา เซ็นแล้ว! คำชี้แจงศาลรธน. ปม 40 สว.ยื่นสอย คาดส่งศาลวันนี้
ส่วน นายพิชิต ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปก่อนหน้านั้น หลังดำรงตำแหน่งได้เพียง 23 วัน ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้รับคำร้องไว้

คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเฉพาะในส่วนของนายเศรษฐาไว้วินิจฉัย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ หากนับจากวันที่ศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย จนถึงวันที่ศาลนัดตัดสินคือ 14 ส.ค. รวมระยะเวลาดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาล ใช้เวลา 84 วัน

ต่อมาเวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบังลังก์อ่านคำวินิจฉัยและมติศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 (4)

เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง เมื่อนายกฯสิ้นสุดลง พ้นทั้งคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ให้ใช้มาตรา 168 มาใช้ต่อไป