ขอบคุณข้อมูลจาก | MIC ศูนย์ข้อมูลมติชน |
---|---|
เผยแพร่ |
28 เมษายน 2567 ประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี “เศรษฐา ½” ปรากฎรายชื่อ นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
29 เมษายน 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร้องเรียน ปปช. กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ เนื่องจากนายพิชิตเคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก กรณีพยายามนำถุงขนมใส่เงินสดจำนวน 2 ล้านบาท มอบเจ้าหน้าที่ศาลในคดีที่ดินรัชดาของนายทักษิณ ชินวัตร
2 พฤษภาคม 2567 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ “ประเด็นพิชิต ชื่นบาน ต่ออย่างไร จบอย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ”
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.เปิดเผย การไต่สวน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ส่อว่ากระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ ยังคงดำเนินต่อไป มีระยะเวลาดำเนินการอยู่ ซึ่งต้องไปดูว่า การแต่งตั้งมีคุณสมบัติหรือไม่ มีเจตนาแต่งตั้งที่ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องหรือไม่ และได้มีการตรวจสอบประวัติและรับรองคุณสมบัติจากหน่วยงานใดบ้าง
15 พฤษภาคม 2567 สว.จำนวน 40 คน ร่วมกันเข้าชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ยื่นผ่านพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
17 พฤษภาคม 2567 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ตามที่ประธานวุฒิสภาส่งมา
19 พฤษภาคม 2567 นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นคาดการณ์ว่านายเศรษฐาและนายพิชิต ตายน้ำตื้น ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
21 พฤษภาคม 2567 นายพิชิต ชื่นบาน ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 67 เป็นต้นไป โดยให้เหตุผลว่า เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นต้องเดินหน้าด้วยความต่อเนื่อง
23 พฤษภาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 รับพิจารณาคำร้องของกลุ่ม 40 สว.ไว้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่ไม่ต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ และให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ส่วนกรณีของนายพิชิต เนื่องจากได้ลาออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงจึงไม่มีเหตุให้วินิจฉัย จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
24 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ยอมรับ “มีความกังวล” กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง 40 ส.ว.วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีกรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ส่วนน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกล่าวถึงหลายฝ่ายประเมินว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาจกลับมาเป็นของตน ส่วนตัวแล้วยังไม่ได้เตรียมความพร้อมเรื่องนี้ เพราะคิดว่าไม่จำเป็น ซึ่งนายเศรษฐา ก็ยังปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้ต่อไป โดยมั่นใจว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นคุณต่อนายเศรษฐา และมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
25 พฤษภาคม 2567 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ตอบคำถามให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กรณีความเคลื่อนไหวของกลุ่ม 40 ส.ว.ว่า สังคมการเมืองเขารู้ว่าใครเป็นคนของใคร อย่างไร เป็นเรื่องธรรมดา มีเช่นนี้มาช้านานแล้ว คงไม่ถึงขั้นจะสามารถล้มนายเศรษฐา แต่อาจเป็นการสร้างความวุ่นวาย บ้านเมืองชะงักบ้าง
28 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่มีการพาดพิงไปถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อยู่เบื้องหลังกลุ่ม 40 ส.ว.ว่า เรื่องนี้ได้อ่านข่าวมาบ้าง แต่อย่าไปพาดพิง พล.อ.ประวิตรเลยดีกว่า เพราะพรรคพลังประชารัฐก็ร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว ตนก็ทำงานร่วมกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โอเค ไม่มีปัญหาอะไรกัน ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท ซึ่งมีฐานะเป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อถูกถามจากนักข่าว ได้ตอบกลับว่าให้ไปถามหัวหน้าพรรค (พล.อ.ประวิตร) และเดินหนีออกจากวงสัมภาษณ์ทันที
30 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง นายวิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ เพื่อให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
5 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นี้ได้จัดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะส่งคำชี้แจงให้กับศาลรัฐธรรมนูญภายในวันนี้ โดยทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้มีการพูดคุย และให้ความคิดเห็นไปแล้ว ซึ่งหมายถึง นายวิษณุ เครืองาม
บล.ทิสโก้ชี้ปัจจัยการเมืองในประเทศไม่นิ่ง โดยเฉพาะ ส.ว.ยื่นศาล รธน. วินิจฉัยนายกฯ ขาดคุณสมบัติ สั่นคลอนความเชื่อมั่นนักลงทุน
11 มิถุนายน 2567 นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตรวจเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายกรัฐมนตรี ในการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ได้ตรวจสอบแล้ว 3 ชั้น ทั้งร่างแรก ร่างแก้ไข และร่างส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตามกำหนด
13 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประชุมปรึกษาทีมกฎหมาย และนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญขอให้มีการชี้แจงพยานหลักฐานข้อมูลเพิ่มเติม
14 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธกระแสข่าวจะลาออกจากตำแหน่ง รวมทั้งกระแสข่าวยุบสภา เพื่อชิงหนีคดีที่ถูก 40 สว. ร้องให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
18 มิถุนายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้นัดวินิจฉัยหรือมีคำวินิจฉัยคดีคุณสมบัตินายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยกำหนดนัดพิจารณาต่อไปเดือน ก.ค.67
นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน เพิ่มเติม 1 คน คือ นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นบุคคลที่รู้กระบวนการทั้งหมด
1 กรกฎาคม 2567 นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ มั่นใจคดีคุณสมบัตินายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนายพิชิต เป็นรัฐมนตรีทั้งที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จะได้ข้อสรุปก่อนเดือนกันยายน 67 แน่นอนโดยการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 ก.ค. จะมีเรื่องเรื่องการพิจารณาคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีด้วย
4 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมในคดี 40 สว. แล้ว หลังศาลฯ ให้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมภายใน 15 วัน
9กรกฎาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่สรุปคดีที่ 40 สว.ยื่นคำร้องขอให้นิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้เรียกข้อมูลเพิ่มเติมและรอคำชี้แจงและพยานหลักฐานจากหน่วยงานหรือบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเรียกไปก่อนหน้านี้ จึงกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อไป
24 กรกฎาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ในวันที่ 14 ส.ค.67 โดยนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 15.00 น.เป็นต้นไป
วันที่ 14 ส.ค. 2567เมื่อเวลา 09.30 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมโดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณาและลงมติ ในคดีที่สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน ยื่นเรื่องผ่าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
หลังพบว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นที่ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา สิ้นสุดลงได้
จากกรณี นายเศรษฐา นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกา มีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ส่วน นายพิชิต ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปก่อนหน้านั้น หลังดำรงตำแหน่งได้เพียง 23 วัน ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้รับคำร้องไว้
คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเฉพาะในส่วนของนายเศรษฐาไว้วินิจฉัย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ หากนับจากวันที่ศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย จนถึงวันที่ศาลนัดตัดสินคือ 14 ส.ค. รวมระยะเวลาดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาล ใช้เวลา 84 วัน
ต่อมาเวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบังลังก์อ่านคำวินิจฉัยและมติศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 (4)
เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง เมื่อนายกฯสิ้นสุดลง พ้นทั้งคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ให้ใช้มาตรา 168 มาใช้ต่อไป