กรมประมง – 5 บริษัท ส่งออกปลาสวยงาม ชี้แจง “กมธ.อว.” ปัดส่งออกปลาหมอคางดำ ชี้ชิปปิ้งกรอกข้อมูลผิด “ฐากร” ยังติดใจ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ส.ค.67 ที่รัฐสภา นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กมธ.อว.) สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม กมธ.อว. โดยพิจารณากรณีการส่งออกปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ปี 2556 – 2559 เชิญตัวแทนกรมประมง และบริษัทเอกชนที่สำแดงการส่งออกปลาคางดำ 11 แห่งเข้าชี้แจง โดยมีนายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง และผู้แทนบริษัท 5 บริษัท เข้าชี้แจง ประกอบด้วย 1. บริษัท ไทย เฉียน หวู่ จำกัด 2.บริษัท แอดวานซ์ อควาติก จำกัด 3.ห้างหุ้นส่วนจำกัด สมิตรา อแควเรี่ยม 4.บริษัท พี.แอนด์.พี อควาเรี่ยม เวิลด์ เทรดดิ้ง จำกัด และ 5. บริษัท เอเชีย อะควาติคส์ จำกัด เข้าชี้แจง

ขณะที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี อควอเรียม ทำหนังสือแจ้ง กมธ.อว.ว่า ไม่สามารถเข้าชี้แจงได้ ส่วนอีก 3 บริษัท ไม่ตอบรับ ประกอบด้วย หจก.ฉาง ซิน เอ็นเตอร์ไพร์, หจก.ซีฟู๊ดส์ อิมปอร์ต – เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด และ บริษัท นิว วาไรตี้ จำกัด และ บริษัท หมีขาว จำกัด ปิดกิจการไปแล้วไม่สามารถติดต่อได้

กรมประมง ทำเอกสารชี้แจงว่าเคยมีการตรวจสอบการส่งออกในปี 2560 ใจความว่า สรุปข้อเท็จจริงประเด็นการส่งออกปลาหมอคางดำ ในช่วงปี 2556 – 2559 ยังไม่มีพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 เป็นกฎหมายในการควบคุมการส่งออก ผู้ส่งออกสัตว์น้ำต้องมาขออนุญาตก่อนการส่งออกกับด่านตรวจประมงที่ต้องการส่งออก ใช้เพียงเอกสารใบกำกับสินค้า หรือ Invoice เป็นเอกสารประกอบการส่งออก หรืออาจมีใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ (Health Cerlifcate) ประกอบในกรณีที่ประเทศปลายทางร้องขอ ไม่ต้องแสดงแหล่งที่มาของสัตว์น้ำในการส่งออก กระทั่งปี พ.ศ. 2561 กรมประมงได้มีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือ เพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 มีนาคม 2561

ในช่วงปี พ.ศ.2556 – 2559 มีข้อมูลการส่งออกปลาหมอคางดำ เป็นการส่งออกในลักษณะปลาสวยงามมีชีวิต 326,240 ตัว เฉลี่ยปีละประมาณ 80,000 ตัว ส่งออกไปยัง 17 ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน ตุรกี คูเวต อาเซอร์ใบจาน ออสเตรเสีย รัสเซีย โปแลนด์ อิหร่าน ชิมบับเว แคนาดา อียิปต์ เลบานอน ญี่ปุ่น อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา โดยผู้ส่งออก 11 ราย

นายประพันธ์ ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบพบว่าการกรอกข้อมูลในระบบมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการกรอกข้อมูลการส่งออก 212 ครั้ง จากการส่งออกปลาสวยงามในช่วงดังกล่าวกว่า 24,000 ครั้ง เช่น บริษัทต้องการกรอกข้อมูลการส่งออกปลา Sardine แต่กรอกเป็น Sorotherodon melanotheron หรือ ปลาหมอคางดำ ในเบื้องต้นพบว่าในช่วงดังกล่าวไม่มีการส่งออกปลาหมอคางดำ เพียงแต่มีการกรอกข้อมูลผิดพลาดเท่านั้นซึ่งเป็นผลการตรวจสอบเมื่อปี 2560

นายฐากร กล่าวว่า ยังติดใจการชี้แจง การดำเนินการของกรมประมง ในกรณีที่เกษตรกรร้องเรียนการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ กลับไม่ตรวจสอบความเดือดร้อนของประชาชน แต่กลับไปตรวจสอบการส่งออก แล้วได้ข้อสรุปว่าเป็นการกรอกเอกสารผิด ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางกรมประมงยังตอบไม่ชัดเจน ทาง กมธ.อว.คงตั้งข้อสังเกตไว้

นายฐากร กล่าวด้วยว่า วันนี้ผู้แทน 5 บริษัท ยืนยันว่าไม่เคยส่งออกปลาหมอคางดำ พร้อมนำเอกสารใบกำกับสินค้า และใบสั่งซื้อสินค้ามาแสดง พร้อมชี้แจงในทิศทางเดียวกันว่ามอบหมายให้บริษัทส่งออก หรือชิปปิ้งดำเนินการกรอกเอกสารส่งออกกับกรมประมงไม่ทราบว่าเกิดความผิดพลาดในการกรอกข้อมูลของชิปปิ้งในจุดใด ขณะที่บางบริษัทระบุว่ามอบหมายชิปปิ้งดำเนินการการกรอกข้อมูลการส่งออกปลาหมอคางดำเกินไว้ แต่ไม่มีการส่งออกจริงโดยยืนยันจากใบสั่งซื้อสินค้า

ประธาน กมธ.อว.ระบุว่า ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ที่มี นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ เป็นประธาน ไปจัดทำรายกงานผลการศึกษา เสนอต่อ กมธ.อว.เพื่อพิจารณาสรุป

โดยเฉพาะในประเด็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลประเมินไว้กว่า 450 ล้านบาท ซึ่งกมธ.อว.ได้มีมติไปแล้วเมื่อ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลสามารถนำเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินมาใช้ได้ จากนั้น กมธ.อว.จะส่งรายงานให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รวมทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการปัญหาปลาหมอคางดำต่อไป ขณะเดียวกันหากหน่วยงานใดต้องการข้อมูลสามารถขอมาที่ กมธ.อว.ได้