‘กัณวีร์’ เผยแนวปฏิบัติต่อการยุบพรรคการเมือง ของคณะกรรมาธิการเวนิส ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญโลก ก่อนศาลรัฐธรรมนูญไทย จะวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง

‘กัณวีร์’ เผยแนวปฏิบัติต่อการยุบพรรคการเมือง ของคณะกรรมาธิการเวนิส ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญโลก ก่อนศาลรัฐธรรมนูญไทย จะวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง และจัดการประชุมศาลรัฐธรรมนูญระดับเอเชีย

วันที่ 1 ส.ค.67 นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เผยแพร่บทความผ่านเฟสบุ๊ก กรณีที่ไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมศาลรัฐธรรมนูญแห่งเอเชีย ในเดือนกันยายนนี้ ในขณะที่ 7 ส.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ประเทศไทย กำลังมีการวินิจฉัย การยุบพรรคการเมือง ที่ถูกจับตาจากทั่วโลกเช่นเดียวกัน

นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า ตนเองเห็นข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญไทย กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ครั้งที่ 6 ในเดือนกันยายนปีนึ้ จึงสนใจไปหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไทยเราเป็นสมาชิกสมาคมศาลรัฐธรรมนูญ และมีการเข้าร่วมประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโลก (Bureau of WCCJ) ครั้งที่ 21 ณ ที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมาธิการเวนิส เมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี เมื่อวันที่ 18 เม.ย.67 ที่ผ่านมาด้วย และในการประชุมระดับเอเชียที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ คณะกรรมาธิการเวนิส จะเป็นเจ้าภาพการประชุมด้วย

“ความน่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ คณะกรรมาธิการเวนิส (la Commission de Venise) หรือชื่อเต็มว่า คณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปเพื่อประชาธิปไตยโดยกฎหมาย (la Commission Européen pour la Démocratie par le Droit) เป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสภายุโรป (Conseil de l’Europe) ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1990 โดยใช้ชื่อเมืองเวนิส ที่ประชุมครั้งแรกมาเป็นชื่อกรรมาธิการ”

นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า ซึ่งในการประชุมใหญ่ ครั้งที่ 41 ในเดือนธันวาคมปี 1999 คณะกรรมาธิการเวนิส ได้รับรอง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการห้ามและการยุบพรรคการเมือง ไว้ 7 ประการ ที่น่าสนใจ ระบุว่า

(1) รัฐต้องรับรองว่าประชาชนมีสิทธิที่จะจัดตั้งหรือเข้าร่วมพรรคการเมืองอย่างเสรี

(2) การจำกัดเสรีภาพของประชาชนผ่านกลไกควบคุมพรรคการเมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายภายในประเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงและต้องสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

(3) การยุบพรรคการเมืองจะทำได้ก็เฉพาะกรณีพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ กิจกรรมที่ต้องห้ามรวมถึงการก่อการร้าย การสู้รบด้วยอาวุธหรือองค์กรที่ทำกิจกรรมลับ ทั้งนี้ การรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญด้วยสันติวิธีไม่ถือว่าเป็นการกระทำในข้อนี้ และไม่พึงถูกยุบ อารยประเทศย่อมมีช่องทางให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติวิธีทั้งผ่านการเลือกตั้งและกระบวนการประชามติ

(4) พรรคการเมืองย่อมไม่ควรรับผิดในการกระทำของสมาชิกเพียงคนใดคนหนึ่งที่ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากพรรค อาชญากรรมที่พรรคจะถูกลงโทษได้ต้องมีหลักฐานว่าผู้กระทำผิดได้รับการสั่งการโดยพรรคการเมืองหรือโดยมติของพรรคการเมือง หากไม่ปรากฏหลักฐานเชื่อมโยงพรรคเข้ากับการกระทำของบุคคลนั้น ๆ โทษที่พึงมีย่อมตกแก่ผู้กระทำแต่ไม่ไปถึงพรรค

(5) การยุบพรรคการเมืองเป็นมาตรการที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง จึงควรใช้อย่างระมัดระวังควรถือเป็นมาตรการสุดท้าย เป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่มาตรการหลักที่รัฐใช้สม่ำเสมอ รัฐต้องชั่งน้ำหนักผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบอบประชาธิปไตย รัฐต้องมั่นใจว่ามีหลักฐานว่ามีภัยคุกคามจริง นอกจากนั้น รัฐควรพิจารณาว่าสามารถใช้มาตรการที่ร้ายแรงน้อยกว่านี้ได้หรือไม่ เช่น มาตรการปรับทางปกครอง การลงโทษสมาชิกรายบุคคล เป็นต้น

(6) มาตรการยุบพรรคการเมืองต้องเป็นผลของการใช้อำนาจตุลาการเพื่อประกาศว่าการกระทำใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และต้องอยู่ภายใต้หลักความได้สัดส่วน มาตรการยุบพรรคต้องอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงพอ

(7) มาตรการยุบพรรคการเมืองต้องถูกสั่งโดยศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นที่เทียบเคียงกันได้ ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่เคารพหลักประกันสิทธิเสรีภาพ ความโปร่งใส และกระบวนพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

โดยระบุที่มา : https://www.venice.coe.int/webforms/documents/default.aspx?pdffile=CDL-INF(2000)001-e

นายกัณวีร์ กล่าวว่าในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญไทย เป็นสมาชิกในสถาบันศาลรัฐธรรมนูญโลก และกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับเอเชีย ซึ่งประกาศหัวข้อประชุม ตามข่าวที่ออกมาว่า ศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าในการเสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน : The Constitution Courts and Equivations in Strengthening Constitutional Justice for Sustainable Society เพื่อหารือว่าจะ ทำอย่างไรให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นสถาบันที่ดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมความเป็นประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ไม่ให้โค่นล้มได้ด้วยอำนาจนิยม ไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ และหวังว่าจะออกคำประกาศ หรือจุดมุ่งหมาย ดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ความเป็นกลางของตุลาการ สิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“ผมไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจศาล แต่คาดหวังว่า การพิจารณายุบพรรคการเมืองหนึ่ง จะเป็นไปตามหลักการในกระบวนการยุติธรรม และมีกรอบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในกรรมาธิการเวนิส มีแนวปฏิบัติไว้ ก็เป็นความรู้อย่างหนึ่ง ที่นักการเมือง และพรรคการเมืองไทย ได้รับทราบไว้ครับ”

นายกัณวีร์ กล่าวย้ำว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งกับประเทศไทยคือการสร้างมาตรฐานทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เราไม่สามารถบอกว่าเรามีประชาธิปไตยแบบไทยๆ และไม่แคร์สายตาใครๆ ในโลกนี้ เพราะเราไม่สามารถยืนอยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ได้