วิเคราะห์ เลือกตั้ง นายก อบจ. อยุธยา โดย รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

เลือกตั้ง นายก อบจ. อยุธยา : จะยัง มั่นใจซ้ออีกหรือไม่?

วิเคราะห์โดย รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐศาสตร์ ปอโท ม.รังสิต แห่ง “อาจารย์ธำรงศักดิ์โพล” (หมายเหตุ : ทัศนะจากงานวิเคราะห์นี้ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น สื่อสามารถนำทั้งหมดหรือบางส่วนไปเผยแพร่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต)

พลันที่ ซ้อสมทรง” สมทรง พันธ์เจริญวรกุล อายุ 77 ปี ลาออกจากตำแหน่ง นายก อบจ.อยุธยา (15 มิ.ย. 2567) อันเป็นวาระสมัยที่ 4 ก็ได้รับการเรียกขานว่านี้คือยุทธศาสตร์ท้องถิ่นแบบ “เนวินโมเดล” แห่งบุรีรัมย์ หรือ “บิ๊กแจ๊สโมเดล” แห่งปทุมธานี เพื่อที่จะได้ครองตำแหน่งอีกครั้งเป็นสมัยที่ 5 โดยถูกอธิบายว่าเป็นวิธีการที่ทำให้พรรคก้าวไกลที่กระแสแรงต้องตั้งตัวไม่ทัน ไม่อาจคัดสรรผู้สมัครที่เหมาะสมได้ทัน เหมือนกับการลาออกของนายก อบจ.ปทุมธานี อ่างทอง และนครสวรรค์ ที่ลาออกมาก่อนหน้า

พรรคส้มก้าวไกลที่อยุธยาน่ากลัวจริงๆ หรือสำหรับซ้อสมทรง?

สมทรงเมื่อแต่งงานได้ย้ายมาอยู่กับสามีที่เปิดร้านค้าวัสดุและรับเหมาก่อสร้างกิจการใหญ่โตที่ตำบลลำตาเสา อ.วังน้อย เธอเริ่มการเมืองท้องถิ่นจากตำแหน่งกรรมการสุขาภิบาล ต่อมาลงเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก่อนสยายปีกลงสนามเป็น นายก อบจ. ตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันนี้ก็เป็นนายก อบจ. อยุธยา มาอย่างต่อเนื่องแล้ว 20 ปี

สมทรงมีลูกและหลานเป็นเครือข่ายการเมือง ตั้งแต่ลูกสาวคนโตเป็นนายกเทศมนตรีตำบลลำตาเสา หลานหญิง พิมพฤดา ตันจรารักษ์ เป็นสจ.วังน้อย มาก่อนครั้งนี้ได้เป็น สส.เขต 3 (วังน้อย อุทัย ภาชี) ซึ่งเป็นเขต สส. ของลูกบ้านนี้มาตั้งแต่ปี 2544 ส่วนลูกชายคนเล็ก สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ย้ายจากสนาม สส.เขต 3 ไปลงเป็น สส. เขต 4 (บางปะอิน บางไทร) และได้เป็น รมช.ศึกษาธิการในรัฐบาลเศรษฐาทวีสิน นอกจากนี้เธอยังมีลูกชายและลูกเขตอยู่ในสนามการเมืองท้องถิ่นคอยคุมด้านสภา อบจ. อีกด้วย

ความจริงแล้ว สมทรงน่าจะเป็นต้นแบบ “สมทรงโมเดล” ของตัวเธอเอง คือชิงลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ. เพื่อลงสนามรักษาตำแหน่งไว้ต่อไป ทั้งนี้เพราะเธอย้ายพรรค เธอพาลูกสาวลงสนามการเมืองครั้งแรกอยู่กับพรรคไทยรักไทยมาตั้งแต่ปี 2544 แต่เมื่อเกิดวิกฤตยุบพรรคพลังประชาชนปลายปี 2551 พอเลือกตั้งปี 2554 เธอพาทีมย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ทว่าเลือกตั้งปีนั้น ลูกชายเธอรอดเป็น สส. คนเดียว ส่วน สส. อีก 4 เขตอยุธยาเป็นของพรรคเพื่อไทย

บวกกับเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ สจ. ในอยุธยาลายคนย้ายไปซบกับเพื่อไทย เธอจึงทิ้งไพ่ลาออกจากนายก อบจ. เมื่อต้นปี 2555 ก่อนครบวาระเพียง 3 เดือน และเธอก็คว้าชัยในการเลือกตั้ง นายก อบจ. สมัยที่สามอย่างขาดลอยเมื่อต้นเมษายน 2555 โดยมีเธอลงสนามเพียงคนเดียวเบอร์เดียว บรรยากาศเงียบเหงา มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 48.11 หรือมาใช้สิทธิ 2.78 แสนคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 5.53 แสนคน สมทรงได้คะแนนเกือบทั้งหมดคือ 2.34 แสนเสียง ที่เหลืออีกกว่า 4 หมื่นเสียงคือไม่เลือกใครและเป็นบัตรเสีย

การรักษาแชมป์สมัยที่ 4 เมื่อปลายปี 2563 เป็นการเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. พร้อมกันทุกจังหวัดทั้งประเทศหลังจากตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ คสช. มานาน ดังนั้น สนามระดับจังหวัดจึงคึกคักที่คนพร้อมอยากเปลี่ยนแปลง ด้วยกระแส “ไม่เอาลุงตู่ คสช.” และ “ไม่เอาคนเดิม” หรือ “ไม่เอาบ้านใหญ่” ซึ่งสมทรงก็อยู่ในตำแหน่งนี้ยาวนานถึง 16 ปีมาแล้ว เธอจึงเป็นทั้งคนเดิมและบ้านใหญ่

คู่แข่งคนสำคัญมาในนามคณะก้าวหน้า ซึ่งก็คือบทบาทหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิทางการเมือง ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ และกรรมการบริหารคนละสิบปี พวกเขาจึงเปิดพื้นที่ทำงานอย่างหนักเพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยมุ่งสร้างประชาธิปไตยที่ฐานรากในการเมืองท้องถิ่น

ผลการเลือกตั้ง สมทรงได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนเกือบสองหมื่นคะแนน ได้ 251,939 คะแนน ชนะ นายวัสพงศ์ วิทูรเมธา จากคณะก้าวหน้าทีได้ 90,739 คะแนน และผู้สมัครอิสระอีกคนที่ได้ 34,105 คะแนนโดยมีผู้มาใช้สิทธิสูงถึงร้อยละ 66.66 หรือจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 6.44 แสนคน มาใช้สิทธิ 4.29 แสนคน บัตรเสีย 2.57 หมื่นใบ ไม่เลือกใคร 2.85 หมื่นใบ นอกจากนี้การเลือก ส.อบจ. ทีมสมทรงได้ชัย 25 คน ใน 14 อำเภอ จากที่มีได้ทั้งหมด 30 คน/เขต ใน 16 อำเภอ  ดังนั้น ด้วยวัย 73 ปี ดูท่าสมทรงจะยิ่งแข็งแกร่งทางการเมืองในอยุธยา

ทว่าการเลือกตั้ง สส. 14 พฤษภาคม 2566 สถานการณ์พลิกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เมื่อคะแนนกระแสพรรคก้าวไกลได้ชัยในอยุธยาเขต 1 และเขต 2 ส่วนทีมสมทรงแห่งภูมิใจไทยรักษาไว้ได้ 3 เขต คือเขต 3-4-5 แต่ก็นับว่าชนะเฉียดฉิวต่อผู้สมัครจากก้าวไกลและเพื่อไทย

เลือกตั้ง สส. 2566 คนอยุธยาออกมาใช้สิทธิกันอย่างถล่มทลายถึงร้อยละ 82.30 สูงกว่าอัตราเฉลี่ยการมาใช้สิทธิของทั้งประเทศที่อยู่ร้อยละ 75.71 อยุธยามีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 6.35 แสนคน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 5.46 แสนคน

คะแนนรวมจากทั้ง 5 เขตเลือกตั้ง ทีมสมทรงแห่งภูมิใจไทยได้รวม 1.96 แสนเสียง ก้าวไกลได้ 1.56 แสนเสียง ส่วนเพื่อไทยได้ 9.6 หมื่นเสียง แต่เมื่อดูคะแนนที่ประชาชนให้กับพรรคการเมืองในบัตรบัญชีรายชื่อ ทีมสมทรงแห่งภูมิใจไทยได้เหลือเพียง 18,522 คะแนน ซึ่งนับว่าได้เพียงน้อยนิดจนน่าหวั่นสะพรึงและตามหลอนหลอก ส่วนก้าวไกลได้เพิ่มเป็น 234,289คะแนน เพื่อไทยก็ได้เพิ่มได้ 153,186 คะแนน

ผลจากคะแนนนิยมที่ภูมิใจไทยได้ ย่อมเป็นคำถามใหญ่ที่สมทรงผู้ผ่านร้อนหนาวมายาวนานต้องถามต่อตัวเองว่า ความจริงแล้วคนอยุธยาจะ ‘มั่นใจซ้อ’ อีกมั้ย? หรือจะเปลี่ยนไปแล้ว?

ซึ่งถ้าสมทรงต้องพ่ายแพ้ในสนาม นายก อบจ. บ้านใหญ่และเครือข่ายของสมทรงที่ก่อร่างสร้างตัวมานานสองทศวรรษ รวมทั้งบทบาททางการเมืองของลูกหลานก็คงต้องเปลี่ยนแปลงไปแบบปราสาททรายที่ถูกกระแสคลื่นซัดกระจายลงอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ในสนามเลือกตั้ง นายก อบจ. ครั้งนี้ 2567 ทีมสมทรงจึงดูจะหวาดระแวงเมื่อเห็นแม้เพียงโลโก้และเสือสีคล้ายส้ม

สมทรงลาออกเพื่อชิงความได้เปรียบจริงหรือ?

แน่นอนว่าเป็นไปตามการคาดคำนวณของทีมสมทรง พรรคก้าวไกลไม่สามารถหาตัวผู้สมัครที่สอดคล้องกับพรรคได้ทัน ซึ่งคนฝ่ายต่างๆ ในแวดวงการเมืองของจังหวัดย่อมรู้กัน เพราะก้าวไกลจะทำอะไรก็จัดประชุมและให้ผู้คนเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างเปิดเผย ซึ่งก้าวไกลต้องการสร้างพรรคแบบมวลชนและการมีส่วนร่วมของคนในจังหวัดนั้นๆ ก้าวไกลจึงประกาศไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรค รวมทั้งพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ส่งคนลงสนาม

ดังนั้น คำตอบชัดเจน สมทรงลาออกเพื่อชิงความได้เปรียบจริงเพราะเมื่อไม่มีก้าวไกล ตำแหน่งนายก อบจ. สมัยที่ 5 ย่อมเห็นๆ กันอยู่ และสมทรงจะอยู่จนครบวาระถึงอายุ 81 ปี

แต่ครั้งนี้ต่างจากปี 2555 ที่สมทรงไร้คู่แข่ง ด้วยมีผู้สมัครหน้าใหม่ขึ้นมาเป็นคู่แข่งหนึ่งคน รู้จักกันในนาม “อุ๊ กรุงสยาม” วัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ผู้มีชื่อเสียงในวงการพระเครื่องมากว่ายี่สิบปี มีชื่อในฐานะที่ปรึกษาโรงหล่อพระรูปอดีตพระมหากษัตริย์ที่อุทยานราชภักดิ์ ทั้งยังมีแนวคิดเศรษฐกิจสายมู จังหวัดท่องเที่ยวเชิงศรัทธา ที่ถูกเรียกว่า Soft Power แบบไทยๆ วัชรพงศ์เข้าไปเป็นที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนากล้าทางเศรษฐกิจ และในการเลือกตั้ง สส. ปี 2566 มีข่าวว่าได้นำพาหัวหน้าพรรคนี้ลงพื้นที่บ้านเกิดแปดริ้วเพื่อประกาศแนวนโยบาย 1 จังหวัด 1,000 ล้านบาท โดยการสร้างแหล่งท่องเที่ยวศักดิ์สิทธิ์ และมีชื่อว่าจะได้ลงสมัคร สส. ของพรรคด้วย

อุ๊ กรุงสยาม ปรากข่าวการเมืองอีกครั้งเมื่อเขาลาออกจากตำแหน่ง นายก อบต.บ้านใหม่ อ.มหาราช ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ปี 2556 หรือสิบเอ็ดปีมาแล้ว เพื่อลงชิงชัยนายก อบจ. อยุธยา ซึ่งเขามีผลงานด้านธุรกิจที่นี่ เช่น พุทธอุทยานหลวงปู่ทวดที่บ้านใหม่ แต่ในพื้นที่เขาได้ประกาศตัวลงสนามนี้มาเป็นปีแล้ว

ในระหว่างที่ก้าวไกลกำลังแสวงหาผู้สมัครและทีม อบจ. วัชรพงศ์ก็เข้าสวมเสื้อสีส้มเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล และดูจะมีภาพผลักดันให้พรรคส่งตนลงสมัครชิงนายก อบจ. อยุธยา ทีกำลังจะมาถึงอีกด้วย แต่เมื่อทางพรรคปฏิเสธการส่งผู้สมัคร วัชรพงศ์ก็ลงสมัครในนามทีมอิสระ “ก้าวใหม่อยุธยา” ที่เขาเชื่อว่านักการเมืองท้องถิ่นและกลไกหน่วยราชการระดับหมู่บ้านต้องการ “เปลี่ยนแน่” และจะมี “แตกแถวเยอะ” และเขาเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะ “เร้าใจสุดในรอบ 20 ปี”

มีสื่อบางฉบับวิเคราะห์ว่า วัชรพงศ์ลงสนามครั้งนี้ก็ด้วยการหนุนช่วยจาก สส.ก้าวไกล และอดีตผู้สมัครเพื่อไทย เป็นส่วนบุคคล ที่ต้องการล้มบ้านใหญ่ของสมทรง

อุ๊ กรุงสยาม วัชรพงศ์ จะสามารถล้ม ซ้อสมทรง ได้จริงมั้ย?

คำตอบจากการวิเคราะห์ มีความเป็นไปได้ที่วัชรพงศ์จะล้มสมทรงได้จริงในการเลือกตั้ง 4 สิงหาคม 2567 หากมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป คือออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งราว 4.45 แสนคน เรียกว่าต้องออกมาอย่างถล่มทลาย แม้จะน้อยกว่าเลือกตั้ง สส. แต่ก็เป็นโอกาสให้วัชรพงศ์ได้ชัยชนะ

ทว่า เมื่อผมเดินทางไปอยุธยาเมื่อวันเสาร์วันพระหยุดสามวัน พบว่า ป้ายหาเสียงของทั้งสองผู้สมัครมีให้เห็นน้อยมาก สะท้อนให้เห็นความเงียบของบรรยากาศเลือกตั้ง

ดังนั้น หากคาดการณ์ตามสภาพความเปนจริงของการเลือกตั้งที่ไม่คึกคักในระดับประเทศและจากสภาพที่เป็นอยู่ มีแนวโน้มที่คนอยุธยาจะออกมาใช้สิทธิระดับร้อยละ 50 หรือออกจากบ้านไปคูหาเลือกตั้งราว 3.2 แสนคน จากคะแนนเลือกตั้งในอดีต เชื่อว่าสมทรงจะยังคงคว้าชัยไว้ได้ด้วยคะแนนอย่างน้อยที่สุดก็ระดับราวๆ 1.9 แสนเสียง จนถึง 2.5 แสนเสียงชนะอีกสมัย

ทำอย่างไรให้คนอยุธยาออกมาเลือกตั้งในระดับมากถึงร้อยละ 70 ได้?

ปัจจัยแรก ผู้สมัครแข่งขันหน้าใหม่ต้องมีภาพลักษณ์ บุคลิก พฤติกรรมและวิสัยทัศน์ที่ทันสมัย (Modernity) ซึ่งจะสอดรับกับลักษณะกระแสของความเป็นคนเมืองและการออกมาเลือกตั้งอย่างถล่มทลายแบบเมื่อเลือกตั้ง สส. ปี 2566 ปัจจัยที่สอง ต้องสร้างกระแสเลือกตั้งให้แรงมากพอที่จะทำให้คนอยุธยามีความหวังได้ว่าผู้มาใหม่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในอยุธยาได้จริง หากขาดสองปัจจัยเบื้องต้นดังกล่าว คนอยุธยาเดิมๆ ที่มีสิทธิเลือกตั้งราวร้อยละ 50 ก็คือคนที่จะออกไปเลือกตั้งตามกลไกตามระบบเครือข่ายบ้านใหญ่บ้านน้อย

อ้างอิง

“อุ๊ กรุงสยาม” ผู้บุกเบิกสายมูเตลู สู่ เศรษฐกิจฐานราก Soft Power มูลค่ากว่าหมื่นล้าน. ผู้จัดการออนไลน์

(6 มิ.ย. 2565). <https://mgronline.com/smes/detail/9650000053389

ผู้ว่าการ สตง. แจง ‘ไม่มีหลักฐานโยงว่าการทำองค์พระต้องอาศัยตำแหน่งนายก อบต. ฐานเศรษฐกิจ

(15 เม.ย. 2559). <https://www.thansettakij.com/politics/43427

‘กก.-พท.’หนุน ‘อุ๊ กรุงสยาม’ ชนซ้อฯ ชิงนายก อบจ.อยุธยา. กรุงเทพธุรกิจ (9 ก.ค. 2024).                                <https://www.bangkokbiznews.com/politics/1134917

นโยบายนายกอุ๊ เลือกตั้งนายก อบจ. อยุธยา. Facebook นายกอุ๊ วัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ (12 ก.ค.2567).

<https://www.facebook.com/p/นายกอุ๊-วัชรพงศ์-ระดมสิทธิพัฒน์100014622672347/?locale=vi_VN

‘สมทรง’ รักษาเก้าอี้ นายก อบจ.อยุธยา ทิ้งห่างก้าวหน้าเท่าตัว นำส.อบจ.เข้าเกือบยกทีม. มติชนออนไลน์ (21 ธ.ค. 2563).<https://www.matichon.co.th/politics/news_2494420

ประชา บูรพาวิถี มังกรซ่อนพยัคฆ์. “เนวินโมเดล” ยึด อบจ. ถึงคิว “ซ้อสมทรง” บ้านใหญ่กรุงเก่า. กรุงเทพธุรกิจ (16 มิ.ย. 2024).<https://www.bangkokbiznews.com/blogs/politics/1131675

ซ้อสมทรง ลาออก นายก อบจ.อยุธยา น้ำตาซึมกลางวงประชุม จับตาบิ๊กแจ๊สโมเดล. มติชนออนไลน์ (15 มิถุนายน 2567).<https://www.matichon.co.th/region/news_4629484

นายก อบจ.อยุธยา ชิงลาออกก่อนกำหนด กกต.เตรียมเลือกตั้งใหม่ 8เม.ย. นี้. MGR Online (22 ก.พ. 2555). <https://mgronline.com/local/detail/9550000024317

“2 สมทรง” ยังมั่นคง พระนครศรีอยุธยา. ผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ (13 เม.ย.. 2021). < https://poonamtongtin.com/2 สมทรง-ยังมั่นคง-พระนค/

รายงานผลการเลือกตั้งและคะแนน นายก อบจ. 76 จังหวัด 2563. ผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ (20 ธ.ค. 2020).     <https://poonamtongtin.com/รายงานผลการเลือกตั้งแล/

เปิดแนวคิด “นายกอุ๊” อบต.บ้านใหม่ เจ้าของไอเดีย “โคมไฟสุ่มไก่” ถูกราคาและถูกใจชาวบ้าน. ผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ (16 มิ.ย. 2021). <https://poonamtongtin.com/เปิดแนวคิด-นายกอุ๊-อบต/    

ลงคะแนนเลือกตั้ง “นายก อบจ.อยุธยา” หงอย คนใช้สิทธิบางตา เหตุไม่มีคูแข่ง. MGR Online (9 เม.ย. 2555).   <https://mgronline.com/local/detail/9550000044708

จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566. วิกีพีเดีย         < https://th.wikipedia.org/wiki/จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป_พ.ศ._2566

การใช้สิทธิเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด วันที่ 20 ธันวาคม 2563 แนกตามจังหวัด. คณะกรรมการการเลือกตั้ง. <https://www.ect.go.th/web-upload/migrate/download/article/article_20210423100838.pdf