การยื้อ การหน่วง ถ่วง เวลา “การเลือกตั้ง” สะท้อน ความกลัว

พลันที่มองเห็นอาการของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะเปลี่ยน “โรดแมป” การเลือกตั้งบทสรุปในทางสังคมเป็นไปในทางเดียวกัน

นี่คือ “อภินิหาร” ในทาง “กฎหมาย”

ขณะเดียวกัน ภายในสิ่งที่เรียกว่า “อภินิหาร” ในทางกฎหมายนี้เองก็บรรจุไว้ด้วย “คำสารภาพ” อย่างครบถ้วนและบริบูรณ์

เท่ากับยืนยันความ “ไม่พร้อม”

พัฒนาการของเรื่องนี้จึงเห็นได้จากการใช้คำกริยาสำแดงอาการ นั่นก็คือ จากที่เคยใช้คำว่า “ยื้อ” ก็นำไปสู่คำว่า “หน่วง”

คนที่มีความพร้อมย่อมไม่ยื้อ คนที่มีความพร้อมย่อมไม่หน่วง

จึงไม่เพียงแต่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะล่อนจ้อนอยู่เบื้องหน้าประชาชน

หากแม้กระทั่ง “คสช.” ก็เปล่าเปลือย

ความจริง สังคมรับรู้ในความไม่พร้อมของ คสช.และของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในเรื่องของ “การเลือกตั้ง” เป็น คสช.และรัฐบาลนั้นเองเปิดโปงตัวเองออกมา

รูปธรรม 1 คือ การไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมือง

เท่ากับเป็นการคงคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 57/2557 เอาไว้ทั้งที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองประกาศและบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560

เท่านั้นยังไม่สะสาแก่ใจ

ยังมีการให้บรรดา “ลูกแหล่งตีนมือ” ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองและก็นำไปสู่รูปธรรม 1 คือ การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 เพื่อรีเซตพรรคการเมือง

เท่ากับยืนยัน 1 คือ ความไม่พร้อมของ “พรรค คสช.”

ทันทีที่ส่ง “ลูกแหล่งตีนมือ” ในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.สะท้อนการหน่วงระยะเวลาของการเลือกตั้งออกไป

ครานี้ก็ถึงคราว น.ส.ม่วน ยาจำปา ออกโรงเอง

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า ไม่ใช่ กกต.ที่ไม่พร้อม ไม่ใช่พรรคการเมืองที่ไม่พร้อม ตรงกันข้าม เป็น คสช.และบริษัทบริวารนั้นเองที่ไม่พร้อม

เป็นความไม่พร้อมเพราะไม่มั่นใจใน “ชัยชนะ”

ทั้งๆ ที่มีเวลาตระเตรียมมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นเวลา 3 ปีจนจะครบ 4 ปีในเดือนพฤษภาคม 2561

ด้าน 1 กดพรรคอื่นฝ่ายอื่นไม่ให้เคลื่อนไหว

ขณะเดียวกัน ด้าน 1 ฝ่ายของตนเองคือ “พรรค คสช.” เคลื่อนไหวอย่างเต็มพิกัด อัดเม็ดเงินลงไปหลายล้านล้านบาท

“หาเสียง” ได้อย่างหน้าชื่น ตาบาน

อุตส่าห์ยกร่าง “รัฐธรรมนูญ” มาเป็นเครื่องมืออย่างชนิดเต็มร้อย อาศัยมาตรา 44 ที่ไม่มีการตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ผ่านมา 3 ปีกว่าก็ยังไม่มั่นใจ

หากมีความมั่นใจก็คงไม่ “ยื้อ” ก็คงไม่ “หน่วง” และทอดเวลาของ “การเลือกตั้ง” ออกไปอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

สถานะและสภาพของ คสช.ในขณะนี้จึงเป็นสภาพอันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสถานะและสภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นสถานะและสภาพที่พะอืดพะอม

พะอืดพะอมเพราะ 1 ไม่มีความกล้า ไม่มีความมั่นใจที่จะเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน 1 ไม่มีความกล้า ไม่มีความมั่นใจอย่างเพียงพอที่จะปฏิเสธการเลือกตั้ง

จึงต้องใช้กลยุทธ์ “ยื้อ” จึงต้องใช้กลยุทธ์ “หน่วง”