กฤษฎีกาเชิญทีมกฎหมาย ศธ.แจงแก้ ‘ม.53’ นักวิชาการห่วง ‘ผอ.เขตฯ’ เคลื่อนอีกหากเรื่องช้า

 

เมื่อวันที่ 21 มกราคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า หลังตนเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และประกอบมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คำสั่งที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่เกิดจากข้อที่ 13 ซึ่งเดิมกำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัด และกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นของ ศธจ.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จากเดิมที่เป็นอำนาจของผู้อำนวยการการ สพท.และผู้อำนวยการโรงเรียน โดยแก้ไขให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ 2 คณะ คือ คณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษา และคณะกรรมการการบริหารงานบุคคล ทั้ง 2 ชุด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มี ศธจ.เป็นเลขานุการ สำหรับคณะกรรมการบริหารงานบุคคล จะมีผู้อำนวยการ สพท.ในจังหวัดทุกคนร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ สพท.เป็นผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 53(3) ตามที่ กศจ.อนุมัติ ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 53(4) ตามที่ กศจ.อนุมัติ ส่วน ศธจ.ทำหน้าที่เลขานุการ กศจ.นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญฝ่ายกฎหมายของ ศธ.ไปชี้แจงเหตุผล และข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว

นพ.ธีระเกียรติกล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ แต่ไม่อยากให้กังวล ทุกอย่างต้องป็นไปตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ทั้งนี้ นายกฯ ย้ำกับทุกหน่วยงานที่เสนอใช้มาตรา 44 ให้ดูรายละเอียดให้ถี่ถ้วน หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าการใช้มาตรา 44 ที่ผ่านมา ไม่มีการพิจารณาข้อกฎหมายให้รอบคอบเพียงพอ

“ขณะนี้ขั้นตอนการพิจารณาเกินอำนาจของผมแล้ว ผมส่งให้นายกฯ พิจารณาแล้ว ต้องขึ้นอยู่กับนายกฯ ส่วนการบริหารงานของ ศธจ.และ สพท.นั้น ให้ดำเนินการตามกฎหมายเดิมไปก่อน จนกว่าคำสั่งแก้ไขจะออกมา กฎหมายมีอะไรก็ทำไป ไม่ต้องห่วง” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าการที่ข้อเสนอขอแก้ไขคำสั่งที่ 19/2560 ของ ศธ.ล่าช้า ไม่มีมีผลกระทบต่อการแต่งตั้งโยกย้าย และการบูรณาการงานด้านการศึกษาของ กศจ.เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้เห็นความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนาการศึกษาของ กศจ.มากนัก ทั้งนี้ การที่ นพ.ธีระเกียรติได้ส่งเรื่องขอแก้ไขคำสั่งดังกล่าวให้นายกฯ แล้ว เท่ากับเป็นการประกันเบื้องต้นว่า จะมีการแก้ปัญหาแน่นอน ดังนั้น คิดว่าในช่วงนี้ทั้ง ศธจ.และกลุ่มผู้อำนวยการ สพท.จะยังนิ่งไม่ออกมาแสดงท่าทีอะไร แต่หากปล่อยให้เนิ่นนานไปกว่านี้ กลุ่มที่จะออกมากระตุ้นคือผู้อำนวยการ สพท.ซึ่งเป็นแกนหลักในการเรียกร้องให้แก้ไขคำสั่งดังกล่าว

“อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าคำสั่งแก้ไขนี้ ควรจะประกาศออกมาโดยเร็วที่สุด เพื่อให้การพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาคเดินไปข้างหน้า โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษา ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของการแก้ปัญหาการจัดการศึกษาที่เป็นรูปธรรม เพราะ กศจ.ไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องงานบริหารบุคคล สามารถบูรณาการการจัดการศึกษาได้อย่างเต็มที่ จากเดิมที่ยังเป็นแบบต่างคนต่างทำ” นายอดิศร กล่าว