ยืดกฎหมายเลือกส.ส.90 วัน สัญญาณเลื่อนเลือกตั้ง?

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักการเมืองและนักวิชาการกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. … สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเสียงข้างมากให้แก้ไขมาตรา 2 ของร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว กำหนดให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ 90 วัน นับแต่วันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จากเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะส่งให้โรดแมปการเลือกตั้ง ส.ส.ต้องขยับจากช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ไปเป็นช่วงต้นปี 2562

ชูศักดิ์ ศิรินิล
ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย

กรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีมติเสียงข้างมากให้แก้ไขมาตรา 2 กำหนดให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 90 วันนั้น กฎหมายที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว 2 ฉบับคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ล้วนแล้วแต่ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาทั้งสิ้น

ร่างกฎหมายฉบับนี้มาแปลกให้บังคับใช้ภายหลัง 90 วัน ทำให้นึกถึงคำพูดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. … ตอนล้มร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. …ว่าเขาต้องการอยู่ยาว จึงมองอย่างอื่นไม่ได้นอกจากต้องการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก ไปจนถึงปี 2562 และเชื่อว่าหากจะทำอะไรให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกได้ เขาและองคาพยพของเขาคงจะทำ เขาต้องการอยู่ในอำนาจให้ยาวนานที่สุด ระยะเวลาที่เคยประกาศว่าเดือนพฤศจิกายน 2561 จะเลือกตั้งจึงเป็นระยะเวลาขั้นสูง แม้กฎหมายจะบอกว่าภายใน 150 วัน หมายความว่าสามารถเลือกตั้งได้ก่อนเดือนพฤศจิกายนก็ตาม

กฎหมายฉบับดังกล่าวถ้ามีผลบังคับใช้ แสดงว่าการปลดล็อกทางการเมืองตามประกาศฉบับที่ 57/2557 ที่ให้พ.ร.ป.ทั้ง 5 ฉบับ มีผลบังคับใช้ต่อไป กับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 จะขยายไปอีก 90 วัน มีผลทำให้พรรคการเมืองเก่าจะยังทำอะไรไม่ได้ เลื่อนเวลาห้ามต่อไปอีก 90 วันเห็นชัดๆ ว่าใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ ผมจึงมองว่าเป็นการสมคบคิดกันเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง สมคบคิดกันหรือไม่ก็เห็นได้ชัดว่าแม่น้ำสายเดียวกัน วันก่อนยังออกมาปฏิเสธว่าไม่มีเรื่องนี้ ตกเย็นก็มีมติ จะให้ตีความว่าอย่างไร

ส่วนที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เหตุผลว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 นั้น ผมมองว่าการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งที่ 53/2560 ก็ไม่เป็นจริง คุณไม่เคยมาถามพรรคการเมืองเลยว่าทำทัน ไม่ทัน ติดปัญหาอะไร ที่พรรคการเมืองเขาสู้กับคำสั่ง คสช.ประเด็นลดทอนสมาชิกกับยุบสาขาพรรค ทำให้เขาต้องมาเริ่มใหม่ ดังนั้น นัยสำคัญของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เสนอตามมติของ กมธ.เสียงข้างมากคือการขยายเวลาปลดล็อกออกไปอีก 90 วัน เพื่อสร้างความได้เปรียบให้พรรคที่จะจัดตั้งใหม่มากขึ้นไปอีก ส่วนพรรคเก่าก็เสียประโยชน์เต็มๆ

เขาคงคิดกันแล้วว่าจะเอาแบบนี้ ก็คิดกันให้ดี เครดิตของประเทศเสียหาย ความน่าเชื่อถือไม่มี แต่ที่คงต้องติดตามคือ คสช.และรัฐบาลจะยกเหตุผลอะไรมาเลื่อนโรดแมปออกไปอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว ผมอยากจะพูดว่ากำลังมีการโกงกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

นิกร จำนง
ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา

ผมไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการกระทำที่ผิดอยู่หลายกรรม ผิดประการแรก คือ ผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 และ 268 ที่ต้องการจัดให้มีการเลือกตั้ง เนื่องจาก กรธ.ได้นำเสนอและมีการอภิปรายรวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนหลายครั้ง และเชื่อว่า กรธ.ได้ตรวจสอบและรับรองเรื่องกรอบระยะเวลาในการนำไปสู่การเลือกตั้งอย่างละเอียดแล้ว จนนำมาสู่การทำประชามติ หากมีการแก้ไขหรือขยายกรอบระยะเวลาหลายครั้งก็ย่อมเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ อีกทั้งรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาก็ได้ให้เวลาในการเตรียมการเลือกตั้งไว้แล้ว โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้เวลาไว้แล้วถึง 150 วัน

ผิดประการที่สอง ผิดความประสงค์ของประชาชน ที่ได้ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เพราะคาดหวังว่าหากเห็นชอบให้มีรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว ตามที่บัญญัติไว้ให้ประชาชนได้ลงคะแนนเห็นชอบ

ผิดประการที่สาม ผิดในเชิงผลประโยชน์ขัดกันของ สนช.เองโดยตรง เพราะการขยายเวลาออกไปเท่าใดก็จะส่งผลให้การดำรงตำแน่งของ สนช.ยืดยาวออกไปอีก และอาจถูกกล่าวหาว่าหวังสร้างผลงานเพื่อให้พวกตนเองได้กลับมามีอำนาจในการเป็นสมาชิกวุฒิสภาผ่านการคัดเลือกของ คสช.ต่อไปได้ ประเด็นนี้อาจถูกร้องเรียนได้ทันทีและในอนาคตหากมีการดำเนินการต่อไป

ผิดประการที่สี่ ผิดต่อคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ข้อ 8 กล่าวคือ เจตนารมณ์ของคำสั่งในข้อนี้ ต้องการที่จะให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. “มีผลบังคับใช้ทันทีหลังจากที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ดังนั้น การอ้างว่าการขยายกรอบระยะเวลาเลือกตั้งเป็นเหตุอันควรจากคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 นั้นยกมาอ้างไม่ได้ เนื่องจากอาจถูกมองได้ว่าประสงค์ต่อผล จึงกำหนดเหตุดังกล่าวขึ้นมาเอง เนื่องจากกฎหมายไม่ได้เป็นปัญหา ทำให้ถูกมองได้ว่าประสงค์ต่อผล จึงกำหนดเหตุขึ้นมา โดยการสร้างเงื่อนไขให้เกิดปัญหาจนทำให้ต้องมีการขยายกรอบระยะเวลาในการเลือกตั้งออกไป

ดังนั้น ผมจึงเรียกร้องให้สมาชิก สนช.ทั้งหลายช่วยกันยับยั้งการแก้ไขการขยายเวลาดังกล่าว เพราะจะนำไปสู่ความเสียหายหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาพพจน์ของ สนช.ทั้งอาจถูกร้องว่าร่วมกันกระทำผิดด้วย ส่วน คสช.อาจจะถูกกล่าวหาว่าสร้างเหตุขึ้นมาเพื่อประสงค์ต่อผลก็เป็นได้ และกรณีนี้จะนำไปสู่การผิดคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศโรดแมปเลือกตั้งไว้แล้วว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561

หากมีการขยายเวลาออกไปก็จะส่งผลกระทบทำลายภาพพจน์ความเชื่อมั่นของประชาชนและนานาชาติที่มีต่อนายกฯ และที่สำคัญที่สุด จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน กรณีนี้จะเป็นการได้ที่ไม่คุ้มเสีย จึงขอความกรุณาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนให้ดีด้วย

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

การที่ สนช.เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้คิดว่าจะกระทบกับโรดแมปการเลือกตั้งอยู่แล้ว เพราะต้องยืดระยะเวลาออกไปอีก 90 วัน เข้าใจว่าคงมีเจตนาต้องการจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป และไม่อยากให้มีการเลือกตั้งเร็ว ส่วนเหตุผลจะเป็นอย่างไรผมไม่รู้ ผมเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในการยืดระยะเวลาเลือกตั้งออกไปก็ต้องเป็นเรื่องในระดับนโยบาย

ผมอยู่ในสภามากกว่า 30 ปี เรื่องเหล่านี้ผมมองออกเลยว่าโดยลำพังสภาจะตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ เพราะว่าร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอมาให้กับ สนช.จะให้มีผลบังคับใช้ภายหลังจากที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แต่พอ สนช.แก้ไขแล้วขยายเวลาออกไป 90 วัน มันเป็นนโยบายที่มาจากรัฐบาลและ คสช. เขาถึงจะทำได้ ถ้าไม่มีนโยบายลงมา สนช.จะทำเรื่องใหญ่แบบนี้ไม่ได้แน่นอน

ส่วนผลกระทบจากการขยายเวลา จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เคยประกาศไว้อย่างชัดเจนทั้งในและต่างประเทศว่าจะเลือกตั้งช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ถ้าเลื่อนออกไปแบบนี้อีกก็จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของผู้มีอำนาจโดยตรงเลยว่าเป็นนายกฯที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ ผมยังไม่เข้าใจว่ายังมีคนเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่หรือไม่

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการอิสระ

เหตุผลคือพรรคใหม่ที่จะมาสนับสนุน คสช.ยังไม่พร้อม การยืดไป 90 วัน ต้องดูว่าอาจไม่ใช่แค่ 90 วัน เพราะต้องมีระยะเวลาทูลเกล้าฯ และรอประกาศราชกิจจานุเบกษา ไม่มีกำหนดว่าจะกี่วัน ควบคุมไม่ได้ ฉะนั้น ที่เลื่อนไปไม่ใช่ 90 วัน ทางกฎหมายนานกว่านั้น

ผลที่เกิดขึ้นเรื่องความน่าเชื่อถือ เครดิตในสายตาระหว่างประเทศ เขาไม่เชื่อหรอกว่า สนช.กับหัวหน้า คสช.จะไม่รู้กัน เกิดจากแป๊ะทั้งนั้น ลงเรือแป๊ะก็ต้องตามแป๊ะ และจะมีผลกระทบทางการเมือง คะแนนนิยมต่อนายกฯ ล่าสุดของกรุงเทพโพลล์ลดลงเยอะ คนหวังว่าถ้าเป็นไปตามระบบ ผ่าน สนช.วาระ 3 แล้วทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ อาจใช้ระยะเวลาไม่นาน คนเขาอดทนว่าอย่างน้อยที่สุดมีเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่ คสช.ก็ไป แม้จะมีการสืบอำนาจต่างๆ แต่ตัว คสช.ไม่มีแล้ว ทีนี้เมื่อมันยืดยาวออกไป แทนที่เขาคิดว่า คสช.ควรจะไปหลังเลือกตั้ง เขาอาจไม่คิดอย่างนั้นแล้วก็ได้ เขาอาจคิดว่า คสช.น่าจะไปก่อนเลือกตั้งเสียดีกว่า เพราะมันยืดเหลือเกิน อย่าลืมว่าคนมีฟางเส้นสุดท้าย

การยืดเวลาคนได้ประโยชน์คือพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับ คสช. เชื่อว่าเขาไม่ได้ตั้งพรรคเดียว แต่ตั้งหลายพรรคมาสนับสนุน สภาวะตอนนี้ของ คสช.เขารู้แน่ๆ ว่าเลือกตั้งก็แพ้ แต่ถ้าไม่เลือกก็พัง เลยยื้อเอาให้ถึงที่สุด อีก 90 วัน บางทีเขายืด 1-2 ปีก็มี กฎหมายยืดได้ไหม ยืดได้ แต่ถามว่าเหมาะสมไหม พอสมควรแก่เหตุผลไหม และทั้ง พ.ร.ป.ส.ส. และ ส.ว.ในเนื้อหาก็มีปัญหาอีก ไม่ใช่เฉพาะที่ยืด แต่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญตั้งหลายประเด็น เชื่อว่าจะมีคนส่งศาลรัฐธรรมนูญอีก เพื่อยื้อให้ได้

ทางอียูเขาแค่ขอให้มีประกาศวันเลือกตั้ง ยังไม่ต้องรอวันเลือกตั้ง แค่ประกาศว่าเลือกตั้งวันไหนเขาก็พร้อมคืนดีอยู่แล้ว ถ้ายืดไปโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ ประเทศจะแย่ แล้วแย่ไปหมดทุกคน ไม่ว่าฝ่ายกองเชียร์ ฝ่ายเคยเชียร์ หรือภาคธุรกิจที่เขาอึดอัด แต่มีความหวังว่าจะเลือกตั้ง พ.ย.ตามที่ประกาศ ทีนี้ยื้อไปอีกปีไหนไม่รู้ ตอนนั้นคะแนนนิยมของ คสช.อาจไม่เหลือเลยก็ได้

ผมว่าลงดีๆ ดีกว่า อย่าทำเลย แพ้ก็แพ้ไปตามวิถีทาง อย่างน้อยที่สุดกติการัฐธรรมนูญที่ออกมาล็อกหน้าล็อกหลังกันเยอะแยะพรรคการเมืองก็แทบจะทำอะไรไม่ได้แล้ว