ชทพ.ชี้ ยืดกม.เลือกตั้ง 90 วัน กระทบคำพูด“บิ๊กตู่” จี้ เอาให้ชัดโรดแมปเลือกตั้งเมื่อไหร่

ชทพ. บอก เอาให้ชัดโรดแมป ลต.เมื่อไหร่ ชี้กระแสข่าวปมยืดกม.เลือกตั้ง 90 วัน กระทบคำพูด “บิ๊กตู่” เต็มๆ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายภราดร ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกระแสข่าวที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมปรับแก้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประเด็นการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.เป็น 90 วันแทนการมีผลใช้บังคับภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่า ตามหลักการบังคับใช้กฎหมาย โดยปกติจะมีผลบังคับใช้ทันทีหรือภายหลัง 1 วัน กรณีดังกล่าวอาจเป็นวิธีที่ทำได้ แม้ว่าเรื่องดังกล่าว ยังเป็นเพียงกระแสข่าวที่ตนไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่เชื่อว่า จะสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่เคยประกาศโรดแมปเลือกตั้งไว้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ จะทำให้สังคมจะไม่เชื่อถือ จึงไม่เป็นเรื่องดี เพราะ ข่าวทำนองแบบนี้ออกมาแล้วจะไปกระทบโดยตรงกับตัว พล.อ.ประยุทธ์ และหากกระแสข่าวนี้กลายเป็นเรื่องจริง จะทำให้โรดแมปเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้อาจกระทบต่อนักการเมืองนั้น ตนมองว่า กติกาที่เขียนออกมาจะเป็นอย่างไร คิดว่า ทุกพรรคการเมืองก็พร้อมปฏิบัติตาม ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายเลือกตั้ง

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า คิดว่า การเลือกตั้งจะเป็นวันนี้ พรุ่งนี้ หรืออีก 90 วันไม่ใช่ปัญหา แต่ประเด็นที่สำคัญ คือ เลือกตั้งวันไหนอยากให้เอาให้ชัดๆ และให้พรรคการเมืองมีเวลาทำงานได้อย่างเท่าเทียม และ หากเวลาที่จะต้องล่วงเลยไปอีกก็อยากให้รัฐบาลใช้เวลาที่มีแก้ปัญหาให้ดี ทั้งปากท้อง ค่าครองชีพ ส่วนที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า คนออกกฎหมายจะลงมาเป็นผู้เล่นเองนั้น ตนขอเปรียบเทียบกับกีฬามวยว่า คนที่เป็นกรรมการจะชกสู้นักมวยไม่ได้ ทั้งนี้ขอให้ลองดู ตอนนี้ออกกติกาเป็นเรื่องที่แล้วแต่มองมุม แต่สุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ส่วนที่ผ่านมา เคยมีการเขียนกติกาเลือกตั้งเพื่อบุคคล แต่สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับการยอมรับหรือไม่ยอมรับ เชื่อว่า 14 ปีที่ผ่านมา ได้เป็นบทเรียนให้กับนักการเมืองเก่าๆ มากขึ้นแล้ว

นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ขณะนี้เรากลัวในสิ่งที่เราไม่รู้ หากฟันธงไปเลยก็คิดว่า ฝ่ายการเมืองรับได้ การออกข่าวโยนหิน หรือกระแสข่าวว่าการเลือกตั้งขยับออกไป จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลเอง ด้านของพรรคการเมืองนั้น หากกติกาออกเป็นแบบไหน ภายใต้กติกาเดียวกัน มีข้อจำกัดเดียวกัน คงไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ พวกตนรับได้ แต่ก็อยากฝากไปยัง สนช. เพราะไม่อยากให้มองนักการเมือง พรรคการเมืองทุกพรรคเป็นปฏิปักษ์ ขอให้รับฟังความเห็นฝายการเมือง แล้วนำไปพิจารณาปรับเขียนกฎหมาย เพราะนักการเมืองเป็นผู้ใช้ ส่วน กมธ.สนช.คือผู้เขียน ดังนั้น หากกติกาที่เขียนออกมา และฝ่ายการเมืองรู้สึกว่ากลั่นแกล้ง หรือทำให้บางกลุ่มบางพรรคได้ประโยชน์ หรือบางพรรคเสียประโยชน์จะเกิดข้อขัดแย้งต่อไป