“สนธิรัตน์”เร่งสถาบันจีไอที พัฒนา6โครงการ ดันเป้าไทยฮับค้าอัญมณี-เครื่องประดับโลก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเยี่ยมชมและมอบนโยบายสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT ที่อาคารไอทีเอฟทาวเวอร์ ถนนสีลม ว่า มอบหมายให้จีไอที เป็นหน่วยงานกลาง เพื่อต่อยอดและเร่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ในการส่งเสริม และสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยปี 2561 โดยให้เร่งจัดทำแผนการดำเนินงาน ให้สอดรับกับแผนการปฏิบัติงาน ปี 2561 ได้แก่ การเพิ่มศักยภาพและสร้างตลาดให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้เป็นสากลและเพิ่มช่องทางการตลาด การสร้างภาพลักษณ์ ของไทยเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลก และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งเรื่องคุณภาพมาตรฐานการพัฒนาการตลาดยุคใหม่ผ่านระบบออนไลน์ การเพิ่มขีดความสามารถวิจัยและนวัตกรรมด้านอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจร รวมถึงการเป็นหน่วยงานกลางอย่างมืออาชีพ ในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งบูรณาการรับกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการลงไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อส่งออก 80% โดย11 เดือนแรกปี2560 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ส่งออกอันดับ 3 คิดเป็น 5.55% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม มีมูลค่า 12,039.02 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 409,237.62 ล้านบาท ลดลง 10% ขณะที่มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำขยายตัว 2% และมีการส่งออกทับทิมมูลค่า 339 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 28% จากปี 2559 ส่วนไพลิน มีมูลค่าส่งออก 316 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเกือบ20%ถือเป็นสัญญาณที่ดี ในปี 2560 ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอันดับ 13 ของโลก และแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปี 2561 และ 2562

สำหรับโครงการที่เร่งให้จีไอทีดำเนินการปี2561 คือ 1.พัฒนาผู้ประกอบการใน 6 ภูมิภาค เน้นให้ผู้เรียนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด และเพิ่มมูลค่า ซึ่งผลงานหรือชิ้นงานจะถูกนำมาจัดแสดงและจำหน่ายใน Museum Gallery และ Gallery Shop ของสถาบัน 2.ให้สถาบันเน้นการเรียนการสอนทั้งด้านเทคนิค การผลิต การออกแบบ และการสร้างแบรนด์ โดยสอนตั้งแต่ระดับช่างฝืมือ พนักงานขาย จนถึงผู้ประกอบการ 3.แผนยกระดับคุณภาพและมาตรฐานโลหะมีค่า เช่น ทอง เงิน แพลทินั่ม เป็นต้น

4.รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับทั่วประเทศ ว่าแต่ละ Cluster มีจำนวนผู้ผลิต ผู้ค้าเท่าใด อยู่ที่ไหนบ้าง เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางของประเทศ โดยเริ่มต้นจากจันทบุรี เพื่อเป็นการบูรณาการร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อจัดให้เป็น 1 ในเส้นทางการท่องเที่ยว อัญมณีและเครื่องประดับของไทย พร้อมจัดทำโครงการ Buy With Confidence หรือโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ ช่วยให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับที่ได้มาตรฐาน และสมราคามากยิ่งขึ้น