“บิ๊กฉัตร” เรียก สธ.-พม.-สสส. ถกงานสุขภาพ ลั่นเลิกต่างคนต่างทำ

“บิ๊กฉัตร” ลั่น งานสร้างเสริมสุขภาพ ต้องทำตั้งแต่เกิด-ถึงตาย เตรียมเรียกหน่วยงานในกำกับด้านสังคม “สธ.-พม.-สสส.” เชื่อมงาน เลิกระบบต่างคนต่างทำ 

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบยุทธศาสตร์แผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ แบ่งออกเป็น 4 แผนงานหลัก ได้แก่ แผนงานการสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและการพัฒนาระบบยา และแผนงานสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ โดยเน้นบทบาทของ สสส.ในการทำหน้าที่เชื่อมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หรือคุณแม่วัยใส จะต้องมีการบูรณาการระหว่าง 5 หน่วยงานหลักตามพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 2560 ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งนำองค์ความรู้ หรือต้นแบบการดำเนินงานส่งมอบและต่อยอดไปยังหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลัก อาทิ การจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตราย เพื่อให้การทำงานของ สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ และเกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ

“ปลายเดือน ม.ค.นี้ ผมจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสังคมมาหารือร่วมกัน ซึ่งเบื้องต้นได้หารือร่วมกับ รมว.สธ. และ รมว.พม. ถึงแนวทางในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ซึ่งเห็นตรงกันว่า มีหลายประเด็นเป็นเรื่องเดียวกันแต่ต่างคนต่างทำ จึงทำให้งานเคลื่อนงานได้ช้า หรือไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ แต่ทั้ง สธ. พม. รวมถึง สสส. ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการทำงานด้านสร้างเสริมสุภาพ นำแผนงานหรือเป้าหมายที่ตั้งไว้มาหารือ ประสานข้อมูลและแนวทางระหว่างหน่วย ก็จะช่วยเสริมหนุนข้อมูลระหว่างกัน เช่น ปัญหาคุณแม่วัยใส เป็นประเด็นที่ทุกหน่วยงานมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ต่างคนต่างทำ จึงทำให้การเคลื่อนงานเป็นไปอย่างล่าช้า ดังนั้นต้องมาบูรณาการ และวางแผนการสร้างเสริมสุขภาพคนไทยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเสียชีวิตให้เป็นภาพเดียวกันทั้งประเทศ” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นที่ประชุมได้มีการนำเสนอมาตรการดำเนินงานความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ที่ สสส. โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจากมาตรการต่างๆ ที่ทุกฝ่ายดำเนินการร่วมกันสามารถลดความสูญเสียได้ใกล้เคียงกับช่วงปกติ สิ่งสำคัญคือการกระจายมาตรการดังกล่าวให้มีความเข้มข้นตลอดปี ไม่เฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ โดยเน้นลงไปที่ชุมชนพื้นที่ ซึ่งจะมีการติดตามความคืบหน้ามาตรการและความร่วมมือในการประชุมครั้งต่อไป