‘สุรชาติ บำรุงสุข’ ฉายภาพ 41 ปี การเมืองไทย #มติชนสู่ปีที่41

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทกวีที่ชื่อ กูเป็นนิสิตนักศึกษา ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ถือเป็นงานที่เป็นตัวแทนของคนทำงานด้านวรรณศิลป์ที่ท้าทายความรู้สึกของคนรุ่นผมต่อการเข้ามาเป็นนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยว่า อะไรคือสิ่งที่เราคาดหวัง การขยับตัวของคนหนุ่มคนสาวหลัง 14 ตุลาฯ 2516 ในการเรียกร้องเสรีภาพมันมาพร้อมกับการตื่นตัวในการทำกิจกรรม และกิจกรรมที่สนใจทำกันมาก คือการทำสื่อออกสู่สังคมในวงกว้าง เพราะเมื่อยังไม่มีโซเซียลมีเดีย จึงจำเป็นต้องหัดเขียน จากการเขียนแถลงการณ์ไปสู่การทำหนังสือทั้งเล่มเล็ก เล่มใหญ่ และด้วยบรรยากาศในรั้วมหาวิทยาลัยที่ขณะนั้นเต็มไปด้วยเสรีภาพ นอกจากจะได้เห็นการเติบโตทางความคิดแล้ว เรายังได้เห็นการเติบโตของสิ่งพิมพ์ในขบวนการนิสิตนักศึกษาด้วยŽ”

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าย้อนความทรงจำของตัวเอง ครั้งยังเป็นนิสิตร่วมกิจกรรมในฐานะ ฝ่ายต่างประเทศŽ ให้กับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย องค์กรคนหนุ่มสาวที่ใหญ่ที่สุดในยุคสมัยนั้น เมื่อถูกชวนให้หวนมองกลับไปเมื่อกว่า 41 ปีที่แล้ว ก่อนที่ หนังสือพิมพ์มติชนรายวันŽ จะถือกำเนิดขึ้น

แน่นอน หากนำ 41 ปีลบย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะตรงกับบริบททางการเมืองหลัง 6 ตุลาฯ 2519 อันเป็น ยุคมืดŽ ของสังคมที่เพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ล้อมฆ่ากลางเมืองหลวงมาไม่นานนัก การจะทำความเข้าใจบริบทดังกล่าว ตามทรรศนะของ อ.สุรชาติ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้เหตุการณ์ก่อน 14 ตุลาฯ 2516 เพราะถือได้ว่าเป็นผลที่สืบเนื่องต่อกันมา

โดยเฉพาะในช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของ 3 จอมพล

ต้องยอมรับว่าความสำเร็จของรัฐบาลทหารจากยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สืบเนื่องสู่ยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ที่สามารถคุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จก็จริง แต่หลังปี 2500 ก็เริ่มถูกท้าทาย จากเงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจที่ค่อยๆ เติบโตเป็น ทุนนิยมŽ หลังใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก จนนำไปสู่การกำเนิดขึ้นของ ชนชั้นกลางŽ และการเติบโตของคนในเมืองบางส่วนที่มีโอกาสเล่าเรียนระดับสูงผ่านมหาวิทยาลัยมากขึ้น

จึงนำมาสู่การสร้างสำนึกความรู้สึกในเรื่องเสรีภาพ และประชาธิปไตย อันเป็นผลสืบเนื่องที่ไหลเข้ามาจากภายนอก ท่ามกลางบริบทโลกมีการก่อตัวขึ้นของขบวนการคนหนุ่มสาวภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศส หรือบางคนอาจจะเรียกว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส ครั้งที่ 2 ในปี 1968 หรือ 2511 ที่คู่ขนานไปกับการต่อต้านสงครามเวียดนาม และเรียกร้องเสรีภาพของคนหนุ่มสาวในสังคมอเมริกัน

ด้วยบริบทดังกล่าว จึงทำให้เกิดการก่อตัวขึ้นของคนหนุ่มสาวในบ้านเราที่ตัดสินใจจะมีบทบาททางการเมืองเช่นเดียวกัน และรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดในทรรศนะของ “สุรชาติŽ” ก็คือ การเกิดขึ้นของขบวนการนิสิตนักศึกษาที่รวมตัวกันเป็น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยŽ นั่นเอง

นั่นก็คือ เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

เพราะ มีข้าราชการระดับสูงในสายงานความมั่นคงนำเฮลิคอปเตอร์หลวงไปลักลอบล่าสัตว์ในเขตป่าสงวน โดยพบซากสัตว์ป่าในบริเวณที่เฮลิคอปเตอร์ตกจำนวนมาก จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากนิสิตนักศึกษาจากชมรมชมรบอนุรักษ์ธรรมชาติของมหาวิทยาลัยต่างๆได้ออกไปเก็บภาพการล่าสัตว์ของคนกลุ่มนี้ และนำเผยแพร่ด้วยการพิมพ์เองขายเองจำนวนหลายพันเล่มหมดภายใน 15 นาทีเท่านั้น

อ.สุรชาติ ชี้ว่า เหตุการณ์ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อใหญ่ที่ทำให้ปัญญาชนและชนชั้นกลางในเมืองเริ่มส่งสัญญาณว่า ไม่เอารัฐบาลเผด็จการ และบานปลายไปสู่ข้อเรียกร้องที่ว่า สังคมไทยควรมีกฎหมายในการปกครองประเทศ มิใช่ในรูปแบบของธรรมนูญการปกครองที่มาจากฝ่ายรัฐประหาร มีการจับกุมผู้นำนักศึกษาที่เดินแจกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่เหตุการณ์14 ตุลาฯ 2516 ในที่สุด

แน่นอนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ทำให้บรรยากาศเปิด รั้วมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยบรรยากาศของเสรีภาพ แต่ก็เป็นระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น เพราะภายใต้ความกลัวของปีกขวาในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำ ทหาร หรือบรรดาขบวนการอนุรักษนิยมที่เริ่มรู้สึกกังวลกับสถานการณ์ภายนอก

๏ การล้มลงของโดมิโน่ 3 อินโดจีน

“เพราะจากการพ่ายแพ้ของรัฐบาลเวียดนามใต้ กัมพูชา ในช่วงเมษายน 2518 พอเข้าธันวาคม เราเห็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองในลาว จึงเป็นจุดที่กระตุ้นความรู้สึกกลัวคอมมิวนิสต์ของปีกขวาไทยที่กังวลว่า การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาออกไปทางซ้าย และเรื่องใหญ่ที่สุดที่ปีกขวากลัวก็คือ การเคลื่อนไหวต่อต้านฐานทัพสหรัฐในไทย เพราะชนชั้นนำ ทหารปีกขวา มีความรู้สึกว่าฐานทัพคือหลักประกัน ฉะนั้น การเรียกร้องให้ถอนฐานทัพของนิสิตนักศึกษา จึงถูกมองว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ไทยกลายเป็นโดมิโน่ตัวใหม่ที่ถูกคอมมิวนิสต์ยึด”

และด้วยเงื่อนไขความกลัวข้างต้น จึงนำไปสู่การก่อเหตุในวันที่ 6 ตุลาฯ 2519 เมื่อศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯจัดกิจกรรมต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม ในคราบของสามเณร อ.สุรชาติŽ บอกว่า ผลพวงจากการต่อต้านได้ลามไปสู่การ ปิดประตูตีแมวŽ ที่ธรรมศาสตร์ เพราะมองนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

“สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2519 นักศึกษาจำนวนมากตัดสินใจเข้าป่าร่วมกับ พคท. ทำให้สงครามในชนบทไทยขยายตัวมากหากหยุดสถานการณ์ไม่ได้ เชื่อกันว่าไทยจะเดินเข้าสู่สงครามกลางเมือง ขณะเดียวกัน ผมคิดว่าสิ่งที่ทหารและชนชั้นนำไทยไม่เตรียมตัวก็คือ ในปี 2520 สหรัฐเปลี่ยนนโยบาย จากที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์มาสนับสนุนเรื่องของสิทธิมนุษยชน จึงทำให้ไทยถูกขึ้นบัญชีในฐานะประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในเวทีโลกจากเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลาฯ 2519Ž”

และผลจากการเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐนี่เองที่ “สุรชาติ”Ž ชี้ว่า ผู้นำเริ่มแตกเป็น 2 ปีก ปีกหนึ่งเชื่อว่าสงครามนี้ต้องยุติด้วยนโยบายทางการเมือง อีกชุดยังเชื่อว่าต้องยุติด้วยการเดินหน้าทำสงครามให้หนักขึ้น

แน่นอน ฝ่ายแรกเป็นผู้ชนะ จึงนำมาซึ่งการรัฐประหารในปี 2520 มีการปรับยุทธศาสตร์และนโยบายของปีกขวาบางส่วน โดยเชื่อว่ายุทธศาสตร์ใหม่ถ้าจะชนะคอมมิวนิสต์ ต้องชนะด้วยนโยบายทางการเมืองไม่ใช่ด้วยสงครามทางการทหาร มีการนิรโทษกรรมให้ผู้นำนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519

เป็นนิรโทษกรรมที่ “สุรชาติ”Ž เรียกว่า เป็นแบบสุดซอยเหมาเข่ง

กล่าวคือ ยกโทษให้กับทุกฝ่าย โดยผู้กุมอำนาจในขณะนั้นเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรองดองในสังคมไทย และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดึงให้นักศึกษาที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในป่าชนบทกลับบ้าน และผลพวงจากการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ตามทรรศนะของ สุรชาติ บำรุงสุขŽ ยังทำให้ “หนังสือพิมพ์มติชนŽ” ถือกำเนิดขึ้นเพื่อรองรับกับบรรยากาศใหม่ในสังคมไทย ก่อนที่นำไปสู่การออกคำสั่ง 66/2523 และ 65/2525 ในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ “บิ๊กจิ๋ว”Ž พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อคำสั่งดังกล่าว

แน่นอน บนความเคลื่อนไหวดังกล่าว หลังเหตุการณ์ ป่าแตกŽ ยังได้ก่อให้เกิดนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นผลผลิตจากนักกิจกรรมในช่วงเดือนตุลาคมที่มีชื่อเสียงในยุคต่อมาด้วย

“สิ่งที่อธิบายทั้งหมดคือ การพาสังคมไทยกลับเข้าสู่สภาวะปกติ มุมหนึ่ง เราเห็นการเติบโตของสื่อในยุคนั้น แน่นอนเป็นสื่อกระดาษ หรือหนังสือพิมพ์ ในภาวะเช่นนี้ มติชนถือเป็นตัวแทนส่วนหนึ่งของภาพการขยายตัวของเสรีภาพ แม้ว่าจะเป็นเสรีภาพในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ปี 2519Ž”

๏ เปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยครึ่งใบ

ทว่าประชาธิปไตยครึ่งใบก็ถึงจุดสิ้นสุด เมื่อ พล.อ.เปรมตัดสินใจยุติบทบาทและให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งขึ้นเป็นนายกฯโดยตรง ซึ่งสังคมมองกันว่า การเข้ามาของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยในอีกช่วงหนึ่ง

แต่แล้วก็ยังแค่เพียงความหวัง

เพราะยังเกิดรัฐประหารอีกในปี 2534 ถือได้ว่าเป็นรัฐประหารแรกหลังยุคสงครามเย็นที่ไม่สามารถอ้างภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์เป็นปัจจัยในการอธิบายต่อสังคมไทย จึงทำให้รัฐประหารโดย รสช.ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ พอถึงพฤษภาฯ 2535 ก็เกิดเหตุการณ์ใหญ่และในท้ายที่สุดนำไปสู่บทบาททหารในการจัดตั้งรัฐบาลแทน

“ผมคิดว่าเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อใหญ่อีกชุดหนึ่ง เราเห็นการต่อสู้ของชนชั้นกลางที่ตัดสินใจยอมรับระบบทหารให้อยู่ในสังคมไทย แต่ขณะเดียวกันก็เห็นบทบาทของสื่ออย่างมติชนที่เข้ามามีบทบาทนำเสนอข่าวกับสถานการณ์ในช่วงนั้น ผมเชื่อว่าย้อนกลับไปหลายฝ่ายมองอย่างอุดมคติว่า รัฐประหารจบแล้ว และจะเริ่มเข้าสู่ยุคการสร้างประชาธิปไตยจริงๆ ด้วยการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในปี 2540Ž”

แต่ก็อย่างที่ทราบกันดี อนาคตประชาธิปไตยของไทยก็ยังเป็นเพียงแค่ความฝันและความหวังต่อไป

เพราะจากที่เคยอยากเห็นรัฐบาลเข้มแข็งด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเกาะคุ้มกัน แต่ด้วยชัยชนะของพรรคไทยรักไทย จึงนำมาสู่ข้อถกเถียงที่กลับหัวกลับหางที่ว่า ปัญหาการเมืองเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลมีความเข้มแข็งเกินไป

ในทรรศนะของ อ.สุรชาติ ชี้ว่า อาการกลับหัวกลับหางทางการเมืองดังกล่าวได้นำไปสู่รัฐประหารในปี 2549 และผลพวงของรัฐประหารครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นความพยายามที่จะพาสังคมไทยกลับสู่เผด็จการหรือระบอบอำนาจนิยม และหวังว่ากระบวนการสร้างความเป็นอนุรักษนิยมจะเกิดและเกิดอย่างเข้มแข็ง โดยไม่ต้องการให้ไทยไปสู่ประชาธิปไตยอีก

โดยเฉพาะวาทกรรมของคนเสื้อเหลืองที่ได้สร้างจินตนาการทางการเมืองอีกชุดหนึ่งขึ้นมา โดยเชื่อว่าการเมืองต้องต่อสู้กับนักการเมือง พยายามสร้างชุดการเมืองที่ไม่เอาประชาธิปไตย มีทรรศนะแบบต่อต้านการเมือง ขณะเดียวกันกลับสร้างการเมืองในรูปแบบของคนกลางขึ้น หรือ การเมืองของคนดีŽ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพรรคการเมือง

จากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือเสื้อเหลือง ก็เคลื่อนไปสู่กลุ่ม กปปส.ห้อยนกหวีดที่ออกมาเคลื่อนไหวล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 โดยการครอบสังคมไทยด้วยความพยายามที่หมุมเข็มนาฬิกากลับไปในความคิดแบบเก่าที่สุด โดยกลุ่มคนที่ออกมาร่วมขบวนของการปฏิเสธประชาธิปไตยในสังคมไทยทั้ง 2 ครั้งนั้นกลับกลายเป็นคนชั้นกลางที่เคยมีบทบาทเรียกร้องรัฐธรรมนูญในปี 2540 ทั้งเอ็นจีโอ สื่อบางส่วนที่เคยมีบทบาทต่อสู้กับทหาร กลับกลายเป็นกลุ่มคนที่หันกลับไปเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหารเสียเอง

แน่นอนการเคลื่อนไหวดังกล่าว สุดท้ายจบลงด้วยคำตอบที่ง่ายที่สุดคือ การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557

สิ่งที่ตามมาหลังการขึ้นสู่อำนาจของฝ่ายทหารในปี 2557 สำหรับ สุรชาติŽ เห็นการเมืองไทยย้อนยุคทุกรูปแบบ เพราะการมีรัฐบาลทหารถือเป็นสิ่งที่ล้าหลังที่สุดของกลุ่มการเมืองปีกขวา แม้จะได้ชัยชนะ แต่ก็ได้มาด้วยราคาที่ต้องจ่าย เพราะรัฐบาลทหารเป็นสินค้าที่ขายไม่ได้บนเวทีโลก

อีกทั้งรัฐประหารนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่กระแสสื่อเปลี่ยนไปสู่ยุคโซเชียลมีเดียที่ถือได้ว่าเป็นบริบทโลกที่มีความก้าวหน้าที่สุด และเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยในโลกอาหรับ ดังนั้น ภาพที่ล้าหลังที่สุดกลับเกิดขึ้นในบริบทโลกที่มีความก้าวหน้าที่สุด จึงกลายเป็นความขัดแย้งในตนเองระหว่างสังคมไทยกับสังคมโลก แม้ว่ารัฐบาลทหารจะมีเสียงสนับสนุนอยู่ แต่สงครามในโลกไซเบอร์ เชื่อว่าจะต้องเหนื่อยกว่าที่คิด

“…จะเห็นได้ว่า 3 ปีกว่าที่ผ่านมาของรัฐบาลทหาร คสช. ได้พยายามวางกลไกของการสร้างรัฐทหารในอนาคตให้เกิดขึ้นโดยที่ผู้คนไม่รู้สึก ไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหารโดยการสถาปนาผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่..”

๏ 3 ปีคสช.วางกลไกรัฐทหาร

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า 3 ปีกว่าที่ผ่านมาของรัฐบาลทหาร คสช. ได้พยายามวางกลไกของการสร้าง “รัฐทหาร”Ž ในอนาคตให้เกิดขึ้นโดยที่ผู้คนไม่รู้สึก ไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหาร โดยการสถาปนาผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ทั้งการบังคับให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีอายุถึง 5 สมัยของรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมือง รวมถึงการกำหนดให้มีวุฒิสมาชิก 250 เสียงที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลทหาร รวมไปถึงกลไกทางกฎหมายหลายส่วน อาทิ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่จะทำให้มีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ไร้ความเข้มแข็งในการทำนโยบาย เพราะจะถูกควบคุมผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ “สุรชาติ”Ž เปรียบเหมือนการรัฐประหารเงียบ 20 ปีเพื่อหวังคุมรัฐบาลพลเรือนในอนาคต

หรือล่าสุด การออกคำสั่ง คสช.ที่ 51/60 ที่อ.สุรชาติ มองว่า เป็นการขยายบทบาทของ กอ.รมน.ให้กลายเป็นสภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ”Ž เป็น ซุปเปอร์กระทรวงŽ ขึ้นมาคุมกระทรวงอื่นๆ ทั้งหมด รวมทั้งคุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบบความมั่นคงทั้งหมดของประเทศนี้ด้วย

“พูดง่ายๆ ว่ารัฐบาลทหารกำลังออกแบบให้ กอ.รมน.เป็นรัฐบาลอีกชุดหนึ่ง และเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเกิดขึ้น รัฐบาลที่ซ้อนรัฐอยู่จะดำรงอยู่ต่อไป เพราะกฎหมายฉบับนี้จะไม่ถูกยกเลิก หรือโดยนัยยะคือกฎหมายฉบับนี้จะทำให้รัฐบาลที่เกิดจากการเลือกตั้งในอนาคตอยู่ในสภาวะที่เป็นเป็ดง่อยไม่สามารถบริหารได้จริง เพราะจะถูกซ้อนด้วยโครงสร้างของ กอ.รมน.ชุดใหม่ภายใต้คำสั่ง 51/60Ž”

ถามว่า เหตุที่ คสช.ถึงยังไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ คสช.ได้วางกลไกต่างๆ ต่อสืบทอดอำนาจไว้อย่างเสร็จสรรพแล้ว อาจารย์สุรชาติตอบทันทีว่า เป็นเพราะความไม่มั่นใจว่าในการเปลี่ยนผ่านจะเป็นประโยชน์ต่อผู้นำทหารและสถาบันกองทัพ เพราะความพยายามทั้งหมดเป็นการออกแบบโครงสร้างทางการเมืองในแบบที่ไม่เห็นในประเทศไหนมาก่อน

ดังนั้น สำหรับ อ.สุรชาติŽ ยังคิดว่า “พรรคทหาร” ยังเป็นหลักประกันที่มีความจำเป็น แม้ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีพรรคทหารแรกเกิดขึ้นแล้วก็ตาม นั่นคือ พรรค ส.ว. 250 คน โดยอาจจะมีการสร้างพรรคทหารขึ้นมาใน 2 รูปแบบ

ด้านหนึ่งอาจดึงนักการเมืองบางส่วนที่ตัดสินใจจะเข้าไปอยู่กับพรรคทหาร ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่า ตัวละครบางคนเริ่มเปิด กับอีกด้านหนึ่งคือความพยายามที่จะสร้างพรรคทหารจริงๆ แบบที่เคยเห็นในอดีต เหมือนกับความพยายามของจอมพลถนอม ในการตั้ง พรรคสหประชาไทย ขึ้นเป็นพรรคทหารอีกครั้งหนึ่ง

“ที่ผ่านมา อาจจะรู้สึกว่าการเมืองยุคหลัง คสช.จะเหมือนการเมืองไทยยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หรือการเมืองยุคหลังรัฐธรรมนูญปี 2521 ที่ไม่ได้มีพรรคทหารเต็มตัว แต่อาศัยกลไกรัฐธรรมนูญบางส่วน แต่ผมกำลังสงสัยว่าการเมืองยุคหลัง คสช.จะเป็นเหมือนกับการเมืองที่มีพรรคทหาร โดยที่ผู้นำ คสช.จะโดดเข้ามาเป็นผู้นำพรรคเพื่อส่งสัญญาณถึงความเป็นพรรคทหารที่ชัดเจนอย่างที่จอมพลถนอมเคยทำในอดีต”Ž

แน่นอนว่าข้อสงสัยดังกล่าวยังคงเป็นคำถามที่น่าคิด

เหตุที่น่าคิดก็เพราะ หากเกิดขึ้นจริงอย่างที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากสำนักสามย่าน สุรชาติ บำรุงสุขŽ ตั้งข้อสงสัยก็เท่ากับว่าการเปลี่ยนผ่านการเมืองยุคหลัง คสช.จะเป็นการถอยหลังกลับไปสู่อดีตมากกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้

เพราะนั่นจะหมายความว่า สังคมไทยจะถอยหลังกลับไปในปี 2511 ไกลกว่าการเปลี่ยนผ่านในยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ หรือไกลกว่าวันที่ หนังสือพิมพ์ มติชนŽ ถือกำเนิดขึ้นถึง 10 ปีทีเดียว