“สุวพันธุ์” ไม่รู้ สนช. ชงขยายเวลา 90 วัน ชี้เป็นอำนาจไม่ต้องแจงรบ.

“สุวพันธุ์” ไม่รู้ สนช. ชงขยายเวลา 90 วัน ชี้เป็นอำนาจไม่ต้องแจงรบ. ปัดตอบกระทบเลื่อนโรดแมป

เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะแก้ไขมาตรา 2 ในร่างพ.ร.ป.ดังกล่าว เพื่อให้มีผลบังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ว่า ตนไม่ทราบ และคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่เคยพูดคุยถึงเรื่องนี้เช่นกัน ขณะที่สนช.ก็ไม่เคยเสนอแนวทางนี้มาที่รัฐบาล ตนคิดว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) คงต้อง พูดคุยกันถึงเรื่องดังกล่าวแล้วให้ตกผลึก แล้ว เมื่อเขาจะทำอะไร ก็ต้องชี้แจงให้สังคมเข้าใจได้

เมื่อถามว่าหากมีการขยายวันเริ่มบังคับใช้ ร่างกฎหมายเช่นนี้จริง จะทำให้โรดแมปต้องขยับด้วยใช่หรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ขอให้รอดูความชัดเจนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะออกมาเป็นอย่างไร แล้วจึงนำมาถกเถียงกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายทุกฉบับที่ยังรอการพิจารณาของ สนช.เป็นหน้าที่ของสนช. ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะมาจากใคร ถ้าทำแล้วผลจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ต้องออกมาชี้แจง สำหรับร่างพ.ร.ป.จำนวน 10 ฉบับเป็นร่างที่จัดทำโดยกรธ. แล้วส่งเข้าสนช.โดยตรง ไม่ได้ผ่านการพิจารณาหรือการหารือของวิปรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามถึงการพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ตามหลักแล้ว จะต้องนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบในหลักการ หลังจากนั้นจะส่งต่อไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง ก่อนจะส่งกลับมาที่ครม.อีกครั้ง เมื่อครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายเหล่านี้แล้วก็จะส่งมาให้วิปรัฐบาลพิจารณา จากนั้นจึงจะเสนอเข้าสู่สนช.ต่อไป อย่างไรก็ตามยังไม่เคยมีการพูดคุยกับสนช.ว่าเขาจะใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายเหล่านี้กี่วัน เพราะที่จริงแล้วสนช.มีกรอบเวลาของเขาอยู่ ขณะเดียวกัน การใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายแต่ละฉบับขึ้นอยู่กับความยากง่ายของตัวร่างนั้นๆ ทั้งนี้ ตนคิดว่าร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และคงต้องนำรัฐธรรมนูญมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย และขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งว่าจะมีวาระการพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเข้าสู่ที่ประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 22 ม.ค.นี้หรือไม่ และไม่มีการแจ้งว่าจะมีสมาชิกสนช.คนใดหยิบยกเรื่องนี้มาหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาลในวันดังกล่าวด้วย