ผลสำรวจชี้ “เด็กไทยต้องการความรักก่อนความรู้” คาดหวังให้ครูเป็นที่พึ่ง เหตุพ่อแม่ไม่มีเวลาให้

“ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ” หัวหน้าคณะวิจัยโครงการวิจัยปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานแถลงข่าวผลสำรวจ Gap ในห้องเรียนไทย ว่าจากผลสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และตัวแทนชุมชน กลุ่มตัวอย่างประมาณ 24,000 คน โดยแบ่งเป็น นักเรียนชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 จำนวน 10,000 คน กลุ่มครูจำนวน 4,000 คน กลุ่มผู้บริหาร 200 คน ผู้ปกครองจำนวน 9,000 คน จากโรงเรียนขนาดกลางจำนวน 110 แห่ง พบว่า 4 เรื่องใหญ่ในมุมมองเด็กไทยที่มีผลต่อการเรียนคือ

1.เด็กๆ อยากได้ความใส่ใจเป็นรายบุคคลจากคุณครูอย่างจริงจังมากกว่านี้ อยากมีครูคนโปรดที่สนิทเป็นพิเศษ มีครูที่ให้เวลาเขามาพูดคุยได้เสมอ และอยากได้ความใส่ใจอย่างเท่าเทียมไม่ลำเอียงจากครู 2.นิสัยและพฤติกรรมการเรียนของเด็กยังต้องพัฒนาด้วย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม การอ่านการค้นคว้า การทำการบ้าน ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน

3.ครอบครัวให้เวลาใส่ใจกับการเรียนของเด็กน้อยไป 4.ความสัมพันธ์กับเพื่อน เช่น ความรู้สึกเป็นที่ยอมรับ การมีเพื่อนพูดคุยปรึกษาปัญหาต่างๆ ไปจนถึงการที่เด็กๆ สามารถช่วยติวกันเองได้

ส่วน 4 เรื่องใหญ่ในมุมมองของครูที่มีผลต่อการสอน ได้แก่ 1.ครูไม่มั่นใจในความรู้ความสามารถของตนบางเรื่อง เช่น การสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ การวัดผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน การปรับเทคนิคการสอนตามความต้องการผู้เรียน 2.ปัญหาช่องว่างระหว่างผู้บริหารที่ยังมีอยู่บ้าง เช่น การยอมรับในความสามารถ การเข้าถึง การรับฟัง การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

3.ปัญหาความสัมพันธ์กับผู้ปกครองที่ครูไม่มั่นใจนัก ขาดความคุ้นเคยสนิทสนม 4.ความสัมพันธ์ระหว่างครูด้วยกันก็ยังมีเรื่องให้เติมเต็ม เช่น การช่วยเหลือระหว่างเพื่อนครูในแง่แลกเปลี่ยนวิธีการสอน การพูดคุยปัญหาในห้องเรียน เพื่อพัฒนาร่วมกัน

ส่วน 4 เรื่องใหญ่ในมุมของพ่อแม่ คือ 1.ไม่มีเวลาใส่ใจการเรียนลูก 2.รู้สึกห่างเหินจากโรงเรียน ไม่มีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ 3.ความมั่นใจต่อโรงเรียนในบางเรื่องก็ได้รับผลกระทบ 4.ความมั่นใจในการสอนของครูลดน้อยลง

ดร.อมรวิชช์กล่าวว่า การสำรวจยังพบช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนที่เป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ ได้แก่ 1.ครูปฏิบัติต่อนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม 2.การรู้จุดเด่นหรือความสามารถของนักเรียนรายคน 3. การให้เวลาพูดคุยหรือปรึกษาปัญหากับนักเรียน

ส่วนช่องว่างระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ได้แก่ 1.การถูกกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียน 2.การพูดคุยเล่าปัญหาระหว่างผู้ปกครองและบุตร 3.การให้เวลาช่วยบุตรหลานทำการบ้าน

ขณะที่ช่องว่างระหว่างครูกับผู้ปกครองที่เป็นปัญหา ได้แก่ 1.การให้เวลาพูดคุยและปรึกษาปัญหา 2.การรู้จุดเด่นและความสามารถของผู้เรียนรายคน ส่วนช่องว่างระหว่างครูกับผู้บริหาร ได้แก่ 1.การยอมรับในความสามารถของครู 2.การให้โอกาสครูในการมีส่วนร่วมต่อการบริหาร

“การสำรวจยังสะท้อนถึงระดับความผูกพันต่อกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งในมุมมองของเด็กนั้น การที่พ่อแม่/ผู้ปกครองมีเวลาช่วยทำการบ้านเสมอ เป็นข้อที่เด็กรู้สึกผูกพันน้อยที่สุด ซึ่งตรงอย่างยิ่งกับมุมมองของผู้ปกครองที่มีระดับความผูกพันต่อเรื่องการมีเวลาช่วยลูกทำการบ้านต่ำสุดเช่นกัน”

“เป็นการชี้ชัดว่า ในยุคนี้ เด็กๆ ต่างหวังพึ่งครูค่อนข้างมาก อยากที่จะสนิทสนม มีครูเป็นที่ปรึกษา ทั้งเรื่องการเรียนและจิตใจ เพราะครอบครัวไม่มีเวลาให้ โดยจากข้อเท็จจริงเหล่านี้ ไม่อยากให้มองว่าเป็นปัญหา แต่เป็นช่องว่างที่สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยเป็นโอกาสให้โรงเรียนยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสุข ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้ง นักเรียน ครู ผู้บริหาร พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงชุมชนด้วย”