กกต. เลื่อนถกร่างกม.เลือกตั้งท้องถิ่น จ่อส่งครม.23ก.พ. เหตุต้องรอฟังความเห็น

กกต. ยังไม่ถกร่างกม.เลือกตั้งท้องถิ่น เลื่อนเป็น 16 ม.ค. ตั้งเป้าส่งครม.พิจารณา 23 ก.พ. นี้ เหตุต้องรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามรธน. มาตรา 77 เผยร่างฉบับกกต. มี 68 มาตรา แก้ 4 ประเด็นให้สอดรับรัฐธรรมนูญ คาดจัดเลือกตั้งท้องถิ่นได้เดือนมิ.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมกกต.วันเดียวกันนี้ ( 9 มกราคม) ที่ประชุมยังไม่ได้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ….ตามที่สำนักงานฯได้เสนอ โดยกกต. ขอที่จะศึกษาในเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าวก่อน และจะพิจารณาในการประชุมกกต.วันที่ 16 มกราคมพร้อมให้สำนักงานทำไทม์ไลน์กรณีต้องนำร่างกฎหมายดังกล่าวไปจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 77 กำหนด รวม 15 วันและระยะเวลาการพิจารณาของกกต. การเสนอร่างกฎหมายไปยังรัฐบาลมาให้ที่ประชุมกกต.พิจารณาในวันดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ สำหรับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. … ที่สำนักงานกกต.ได้ยกร่างขึ้นนั้นมีทั้งสิ้น 68 มาตรา เนื้อหาหลักจะเป็นการแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ใน 4 ประเด็น คือ1. แก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 เกี่ยวกับอำนาจของกกต. เช่นอำนาจในการสั่งเลือกตั้งใหม่ที่สั่งได้ก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง การสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพิกถอนสิทธิสมัครเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ทั้งก่อนและหลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง 2. แก้ไขให้เป็นไปตามพ.ร.ป. ว่าด้วยกกต. เช่น การมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง แทนกกต.จังหวัด โดยเขียนเปิดช่องให้เป็นอำนาจของกกต. ที่จะพิจารณาว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ๆ จะตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งหรือไม่ก็ได้ 3. แก้ไขให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ในเรื่องมาตรฐานการจัดการ เช่น ระยะเวลาการลงคะแนนเลือกตั้งเป็นเวลา 08.00-16.00 น. ระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง การที่รัฐจะต้องเป็นผู้จัดสถานที่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งปิดป้ายหาเสียง 4. แก้ไขปัญหาการบริหารงานท้องถิ่นที่ผ่านมา เช่นการที่ผู้บริหารท้องถิ่นชิงความได้เปรียบด้วยการลาออกก่อนครบวาระ โดยแก้ไขให้ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นมีวาระเท่ากัน ซึ่งถ้าบริหารงานไปแล้วผู้บริหารลาออกก่อน หากวาระของสภาท้องถิ่นเหลือน้อยกว่า 180 วันก็ไม่ต้องมีการเลือกผู้บริหาร แต่ให้ปลัดท้องถิ่นนั้นๆ ทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่าสภาท้องถิ่นจะครบวาระ แต่หากระยะเวลาสภาท้องถิ่นเหลือเกินกว่า 180 วัน ให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ ดำรงตำแหน่งได้เท่าวาระของสภาท้องถิ่นที่เหลืออยู่

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานได้มีการคาดการณ์ว่า หลังที่ประชุมกกต.ได้มีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวในการประชุมวันที่ 16 มกราคมแล้ว ไม่เกินวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ทางสำนักงานฯจะมีการจัดส่งร่างกฎหมายให้กับสำนักงานกกต.จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซด์ของสำนักงาน เพื่อรับฟังความคิดเห็น จากนั้น ไม่เกิน 13 กุมภาพันธ์ ก็จะทำการรวบรวมข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นและสรุปผลการรับฟังเพื่อเสนอกกต. โดยในวันที่ 20 กุมภาพันธ์จะมีการรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้กับที่ประชุมกกต.ได้รับทราบ และคาดว่าไม่เกินวันที่ 23 กุมภาพันธ์ จะมีการส่งร่างกฎหมายดังกล่าวพร้อมกับผลการรับฟังความคิดเห็นให้กับคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากพิจารณาขั้นตอนการออกกฎหมายดังกล่าว ถ้ากกต.ส่งร่างไปยังครม.ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์แล้ว และครม.พิจารณาในการประชุมครม.นัดถัดไปคือวันที่ 27 กุมภาพันธ์ จากนั้นก็จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำการตรวจสอบคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางเดือนมีนาคม ก่อนส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) พิจารณาซึ่งจะใช้เวลารวม 60 วัน และขั้นตอนทูลเกล้าฯเพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ น่าจะเสร็จสิ้นได้ในเดือนพฤษภาคม ขณะเดียวกันร่างกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่ขณะนี้รัฐบาลมีการแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะมีการทยอยพิจารณาควบคู่ไป ดังนั้นการเลือกผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งอาจจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นั้นก็คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในเดือนมิถุนายน