สรุปข่าวในประเทศ : สื่อทำเนียบแจงงดตั้งฉายา ครม. / ผบ.ทบ.ปรับโฉมทหารไร้มาเฟีย ผม-ชุดต้องเป๊ะ!

ตื้นตัน “สมเด็จพระเทพฯ” ทรงกราบพระเมรุมาศครั้งสุดท้าย

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเปิดให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาชมนิทรรศการ เพื่อซึมซับความสมพระเกียรติของพระเมรุมาศอันเป็นประวัติศาสตร์สำคัญเก็บไว้เป็นความทรงจำครั้งสุดท้าย โดยช่วงค่ำ สำนักสังคีต กรมศิลปากร จัดแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดพิเศษ “เย็นศิระ พระอวตาร” เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีประชาชนเดินทางมาชมจำนวนมาก

กระทั่งเวลา 21.19 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตรการแสดง สร้างความปลื้มปีติแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก โดยภายหลังการแสดงเสร็จสิ้นลง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงวางพวงมาลัยและทรงก้มกราบสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ชานบันไดพระเมรุมาศชั้นที่ 2 ฝั่งทิศตะวันตก นับเป็นการปิดนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อย่างเป็นทางการ ก่อนจะมีการรื้อถอนพระเมรุมาศ จากนั้นทรงมีพระปฏิสันถารและฉายพระรูปร่วมกับคณะนักแสดง ก่อนเสด็จฯ ยังพระที่นั่งทรงธรรม แล้วเสด็จฯ กลับ ประชาชนที่เฝ้าฯ รับเสด็จต่างพากันเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” กึกก้องทั่วบริเวณ บางส่วนถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความปลื้มปีติเป็นล้นพ้น

สื่อทำเนียบแจงงดตั้งฉายา ครม.-รมต. ประยุทธ์ให้ลดการนำเสนอเนื้อหารุนแรง

ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลชี้แจง เรื่องงดตั้งฉายารัฐบาล-นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ประจำปี 2560 ว่า เพราะมีข้อจำกัดทางข้อกฎหมายและบรรยากาศการเมืองในภาวะที่ยังถือว่าไม่ปกติ ทั้งยังมีความเห็นว่าหากมีการตั้งฉายารัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี อาจถูกนำไปขยายความขัดแย้ง เชื่อมโยง หรือขยายผลในทางการเมือง จนตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ นอกจากนี้ เป็นหลักปฏิบัติที่จะไม่มีการตั้งฉายารัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำปี กรณีที่เป็นรัฐบาลรักษาการ หรือกรณีที่รัฐบาลยังทำงานไม่ครบปี กรณีรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจหรือรัฐประหาร และกรณีสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในภาวะไม่ปกติ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง อาทิ ในปี 2549-2550 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากการรัฐประหาร ในปี 2551 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ในปี 2556 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากมีการประกาศยุบสภา และในปี 2557 เป็นต้น

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ในปี 2561 อยากให้สื่อมวลชนช่วยกันลดปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคมไทย เพราะบางครั้งการจัดรายการข่าวโดยให้คนโต้เถียงกันในเรื่องเล็กน้อย ที่คนไม่กี่คนทะเลาะกัน จะเป็นปัญหา

“ผมเข้ามายุ่งสื่อไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ไปก้าวล่วงสื่ออยู่แล้ว ท่านมีสิทธิ์ของท่านตามปกติ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“บิ๊กเจี๊ยบ” เผยทหารปรับโฉมไร้มาเฟีย “ทรงผม-เครื่องแบบระเบียบวินัย” เป๊ะ

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 มกราคม ว่า ได้กวดขันกำลังพลของกองทัพบกให้มีความเข้มแข็งทางด้านร่างกาย และเน้นย้ำให้กำลังพลทุกคนต้องมีระเบียบวินัย โดยเฉพาะทรงผมต้องเรียบร้อยและถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งประชาชนหรือคนทั่วไปเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ในส่วนของทหารประจำการที่อาจยังมีพฤติกรรมเป็นทหารมาเฟีย หรือเป็นผู้มีอิทธิพลเสียเองนั้น ตนคิดว่าตั้งแต่มาเป็น ผบ.ทบ. มีปัญหานี้น้อยลงมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ที่จะมี เสธ.นั้นหรือ เสธ.นี้ ตนถามว่าตอนนี้มีชื่อแบบนี้อีกหรือไม่

AFP PHOTO / MUNIR UZ ZAMAN

ส่วนที่เห็นว่าไปตามผับหรือบาร์ก็เพราะเป็นไปตามนโยบายจัดระเบียบสังคม ถ้าใครทำผิดก็ว่าไปตามกระบวนการวินัย และอาญา อย่างไรก็ตาม หากมีเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่จัดระเบียบสังคมไปเบ่งหรือใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบ เรียกรับผลประโยชน์ใดๆ ประชาชนสามารถร้องเรียนเข้ามาได้ตามช่องทาง

“พรเพชร” ยัน สนช.ออก กม.เข้มงวด ย้ำไม่เคยมีใบสั่ง แค่ทำตามนโยบาย

เมื่อวันที่ 1 มกราคม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยถึงภาพรวมของงานด้านนิติบัญญัติในปี 2560 ที่ผ่านมาว่า จะเห็นได้ว่าการพิจารณากฎหมายของ สนช. เป็นไปโดยรอบคอบผ่านการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเกือบทุกฉบับ เว้นแต่จะมีบางฉบับที่เป็นเรื่องเร่งด่วน อีกทั้งยังผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเหตุที่กฎหมายบางฉบับมีสมาชิก สนช. อภิปรายน้อย หรือใช้เวลาพิจารณาสั้นนั้นคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายฉบับนั้นได้ยกร่างมาค่อนข้างดี มีเนื้อหาที่ไม่กระทบต่อสังคมและประชาชน ผ่านการตรวจสอบของ กมธ.วิสามัญบางคณะค่อนข้างเข้มงวด จึงทำให้ไม่มีการอภิปรายมาก ส่วนข้อวิจารณ์ว่า สนช. เป็นเพียงแค่หน่วยงานที่คอยรับใบสั่งในการออกกฎหมายจาก คสช. นั้น ย่อมจะถูกมองเป็นแบบ ได้อยู่แล้ว แต่ความเป็นพวกเดียวกันในระบอบประชาธิปไตยมันมีทุกแห่ง ระบอบประชาธิปไตยที่ปกครองด้วยพรรคการเมืองเสียงข้างมากก็รับใบสั่งโดยตรงจากพรรค แต่สำหรับกรณี คสช. ก็ได้มองแล้วว่าจะต้องเดินหน้าไปด้วยระบบนิติรัฐ คสช. จึงเห็นความสำคัญที่จะต้องมี สนช. แม้จะเป็นสภาแต่งตั้งก็ตาม

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.

“ดังนั้น การบอกว่ามีใบสั่งนั้น ไม่ใช่ใบสั่ง มันเป็นเรื่องนโยบายซึ่งเขาแสดงออกมาและไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งซ้ำ ถ้ามันไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม นิติรัฐ สนช. ก็ต้องดำเนินการ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สนช. ก็จะไม่เดินไปตามนั้น” นายพรเพชรกล่าว