เผยแพร่ |
---|
‘อนุทิน’ รอ ป.ป.ช.เคลียร์รถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ‘ชัชชาติ’ บอกยาก 20 บาท ตลอดสาย รอปี 2572 เก็บเท่าไหร่ก็ได้
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้การต้อนรับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการ มท. และคณะ ในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการมท. มาตรวจราชการและมอบนโยบายให้กับ กทม.
ผู้สื่อข่าวสอบถามประเด็นเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิดเกี่ยวกับกรณีการทำสัญญาให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน เพราะหากฝืนทำไปก็ไปต่อไม่ได้
“เป็นเรื่องที่ต้องหารือตามช่วงเวลาต่างๆ ยังมีขั้นตอนอื่นๆ อีกมากมาย ผมมีหน้าที่ต้องทำให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ทั้ง กทม. ภาครัฐ ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ถ้าทุกอย่างมีความชัดเจน ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีข้อติดขัดใดๆ ก็จะเร่งรัดให้แก้ไขปัญหาคลี่คลายอย่างเร็วที่สุด”
เมื่อถามว่าจะมีการเสนอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกคำสั่งตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเดินต่อไปได้หรือไม่นั้น นายอนุทินกล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่าหากคำสั่งใดจะให้ยกเว้น หรือคงไว้ต้องเร่งแจ้งไปยัง มท.แต่เรื่องนี้ มท.คงไม่ได้แจ้ง ให้เป็นไปตามกฎหมายทั่วไป
“หากจะเริ่มกระบวนการใหม่ต้องให้เคลียร์ เป็นยุคของผู้ว่าฯชัชชาติ เป็นยุคของผม ไม่ใช่รับอะไรจากที่เราไม่เกี่ยวข้อง ฝืนโดยที่ไม่มีความเข้าใจในปัญหาอย่างถ่องแท้ อย่าไปให้หน่วยงานยอมรับในสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย รัฐไม่มีสิทธิเอาเปรียบผู้ประกอบการ จากนี้หากเรื่องเริ่มเดินไปได้แล้ว ผมกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะต้องหารือกันให้มากขึ้น” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า หาก กทม.เสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. แล้วทุกอย่างอธิบายได้ตามหลักกฎหมาย ตนก็ไม่มีสิทธิที่จะมีปัญหา แต่วันนี้มีโจทย์ยากคือ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอดีตผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารบีทีเอสจึงต้องเคลียร์เรื่องนี้ให้ขาดก่อน
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องรถไฟฟ้า มี 2 ส่วนแรก คือคำสั่ง คสช. นั้น เป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เดินรถอย่างต่อเนื่อง โดยเอาหนี้ทั้งหมด มาแลกกับการขยายสัมปทานให้กับเอกชน
อีกส่วนเป็นเรื่องหนี้ของค่าติดตั้งงานระบบและจัดหารถไฟฟ้า (E&M) และ ค่ารับจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ซึ่ง ค่า E&M กทม.สามารถจ่ายได้ เพราะมีเงินอยู่แล้ว แต่ต้องผ่านการอนุมัติจากสภา กทม.ก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการวิสามัญฯ นำผลการศึกษามารายงานต่อที่ประชุมสภา กทม.ก่อน เมื่อได้ข้อสรุปจากคณะกรรมการวิสามัญฯ กทม.จึงเสนอ มท. และ ครม. ส่วน ค่า O&M อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง จึงยังจ่ายไม่ได้
“เราทั้งคู่ไม่ได้รับผิดชอบ แต่มาจากคนก่อนหน้านี้ ต้องดูให้ถูกต้อง เพราะเราเป็นตัวแทนประชาชน ไม่ใช่เงินส่วนตัวเรา เป็นเงินของประชาชน ต้องทำให้ถูกกฎหมาย” นายชัชชาติกล่าว
ส่วนเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตามนโยบายรัฐบาล นายชัชชาติกล่าวว่า กทม.สามารถเชิญเอกชนมาพูดคุยได้ แต่ดูจากตัวเลขต้นทุนแล้วเป็นเรื่องยากที่เอกชนจะยินยอม แต่หากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 และโครงการกลับมาเป็นของ กทม.สามารถทำได้ แต่ต้นทุนค่าเดินรถอยู่ที่ 33 บาท ถ้าคิดค่าโดยสาร 20 บาท จะมีส่วนต่าง 13 บาท ซึ่งส่วนนี้ กทม.ต้องรับผิดชอบ