“อุตตม”มั่นใจปี61 “อีอีซี”เกิดเป็นรูปธรรมแน่ บีโอไอจัดเต็มแพคเกจจูงใจลงทุน ลั่นไม่แพ้ใครในโลก

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)ว่า ปี 2561 จะได้เห็นการลงทุนเป็นรูปธรรมและมีมากขึ้นในอีอีซี รัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนไทยและต่างชาติว่า อีอีซี เกิดขึ้นแน่ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ที่จะเชื่อมโยงจากมาบตาพุด แหลมฉบัง และจะออกทีโออาร์(ประกาศเชิญชวนลงทุน)ให้นักลงทุนที่สนใจยื่นข้อเสนอเข้ามา ทั้งรถไฟ มาบตาพุด เฟส 3 แหลมฉบังเฟส 3 ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเฟส 1 รวมไปถึงอุตสาหกรรมหลักที่จะเกิดขึ้น ในอู่ตะเภามีอุตสาหกรรมซ่อมสร้างอากาศยาน(เอ็มอาร์โอ) ตอนนี้เริ่มดำเนินการแล้ว มีการลงนามแอร์บัสและการบินไทย สายการบินอื่นๆ กำลังจะมาอยู่ ทั้งนี้ ยังมีสายการบินที่สนใจจะทำโลว์คอสต์แอร์ไลน์เพิ่ม ทำเอ็มอาร์โอ ลงทุนสร้างอาคารผู้โดยสารอาคารที่ 3 ในอู่ตะเภา และอุตสาหกรรมเป้าหมายจะเดินหน้าต่อ ขณะนี้รัฐบาลมีกลไกอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน มีสำนักงานอีอีซี มีแพ็คเกจจูงใจการลงทุนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่เชื่อว่าไทยจะไม่แพ้ใครในโลก

“อีอีซี เป็นโครงการที่รัฐบาลสร้างเพื่อเป็นฐานความเจริญชุดใหม่ของประเทศ การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ยกระดับอุตสาหกรรมเดิม พร้อมกับการสร้างเมืองใหม่ ต่อยอดจากพื้นที่เดิมอีสเทิร์นซีบอร์ดที่มีจุดแข็งด้านอุตสาหกรรม จึงใช้พื้นที่ 3 จังหวัด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง นำร่องเริ่มต้นก่อน และจะขยายไปพื้นที่อื่นแน่นอน เพราะนโยบายการพัฒนาของนายกรัฐมนตรีคือทำเพื่อประโยชน์ของคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ไปพร้อมกัน”

นายอุตตม กล่าวว่า จะเน้นการยึดโยงกับพื้นที่ให้มากที่สุด โดยตามนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่ 4.0 ต้องพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ไปพร้อมกับธุรกิจรายใหญ่และให้สามารถอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันได้ เช่น ได้ลงไปหาผู้ประกอบการระดับชุมชน หรือไมโครเอสเอ็มอี ต้องการให้คนตัวเล็กมีโอกาสและเติบโตได้ และจะปรับเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรมปัจจุบันมีศูนย์ภาค 11 ศูนย์ทั่วประเทศ ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมจังหวัดที่วประเทศ ขณะนี้ศูนย์ภาคทั้ง 11 แห่งได้รับภารกิจ 2 เรื่อง คือ ให้เป็นศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 และให้เป็นศูนย์ส่งเสริมเอสเอ็มอี โดยทุกศูนย์จะมีพื้นที่โรงงานต้นแบบให้เอสเอ็มอีมาทดลองใช้เครื่องมือ ในการแปรรูปสินค้าเกษตร แพคเกจจิ้ง พร้อมให้คำแนะนำร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่ ได้เริ่มดำเนินการแล้วที่ พิษณุโลก และเชียงใหม่ รวมถึงสำนักงานทั้งหมดของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) และอื่นๆ ที่ต้องปรับไปพร้อมกัน ถ้าโครงการไหนซ้ำซ้อนก็เลิกซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณได้ ปัจจุบันรวมสาขาทั้งหมดของหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศมี 248 ศูนย์ ที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอี และจะมีการเชื่อมโยงกันผ่านออนไลน์ด้วย