เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2566 ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี แกนนำพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินและสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า ขอบคุณครับที่ “ทำสาว” ให้บึงบอระเพ็ด
สำหรับนักวิชาการสายสิ่งแวดล้อมทางน้ำ(Aquatic Ecologist) รุ่นแรกๆของประเทศไทย เช่นผม วันนี้ตื่นเต้นและดีใจจริงๆครับที่ทราบว่า ท่านราชเลขาฯ สำนักพระราชวัง และปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เมตตาบึงบอระเพ็ดให้มีการสูบน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าบึงบอระเพ็ดจากที่เกือบจะแห้งจนเต็ม 100 ล้านลบม.ในอีก 30 วันข้างหน้า
ผมถือว่า บึงบอระเพ็ดคือครู คือดวงใจ และคลังสมองของผม ไม่มีบึงบอระเพ็ดอาจไม่มีผมในวันนี้ก็ได้ ในสมัยหนุ่มน้อยผมเคยเป็นหัวหน้าหน่วยบูรณะแหล่งน้ำซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่บึงบอระเพ็ด เคยเป็นหัวหน้าหน่วยพัฒนาประมงในแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่สำคัญที่สุดก็คือ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมที่มหาวิทยาลัยManitoba แคนาดา(เมื่อ 48ปีที่แล้ว) คือ การสร้างทฤษฎีและพิสูจน์ขบวนการทำสาว(Rehabilitation) ให้อ่างเก็บน้ำที่มีอายุและเริ่มเสื่อมโทรม
ทฤษฎีของผมก็อาจจะเลียนแบบมาจาก ร.9 ที่ทรงรับสั่งถึงเรื่อง “แกล้งดิน” หรือ การที่นักวิชาการแนะนำให้หยุดรดน้ำก่อนผลไม้ให้ผล หรือที่ชาวบ้านเอามีดไปสับต้นไม้(ให้เจ็บเล่นมั๊ง) เพราะเชื่อว่า ผลไม้จะให้ลูกดก ทฤษฎีของผมก็คือ ผมจะต้องจู่โจมให้ระบบนิเวศน์ของแหล่งน้ำนั้นเกิดรู้สึกตกใจ(shock) ซึ่งเมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ ระบบนิเวศน์ที่ประกอบด้วยดิน น้ำ พืชน้ำ และปลาก็จะต้องเร่งเจริญเติบโตวางไข่ออกลูก เพื่อรักษาพืชพันธุ์ไว้ให้ได้ แล้วก็จะจบลงด้วยความอุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นระบบนิเวศน์ใหม่ในขั้นต้นของวิวัฒนาการ(Early Stage of Succession) คือเปลี่ยนจากคนแก่กลับมาเป็นสาวเหมือนเดิม
กรรมวิธีคือ ผมระบายน้ำออกจากบึงบอระเพ็ดจนเกือบหมดภายใน 1 เดือน(โดนสวดพอสมควร) จากนั้นปล่อยให้แห้งอีก 1 เดือน สุดท้ายระบายน้ำเข้าอย่างช้าๆจนเต็ม ตอนนั้นจำได้ว่า มีการถกเถียงกันออกทีวีเลย วิทยานิพนธ์ของผมถือเป็นโครงการที่ใหญ่และใช้งบประมาณมากเพราะต้องเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน น้ำ พืชน้ำและสัตว์น้ำทุกชนิดอย่างต่อเนื่องทุกเดือนติดต่อกันเป็นเวลาปีครึ่ง
ในที่สุดผลที่ได้นั้นสุดคุ้มค่าสำหรับส่วนรวม บึงบอระเพ็ดกลับมาอุดมสมบูรณ์ยิ่งกว่าเดิมไปอีกหลายเท่า อธิบายง่ายๆคือ พอน้ำเริ่มขึ้น มีหญ้าหลายชนิดโดยเฉพาะหญ้าไทร หรือ Leesia hexandra ก็จะทะลึ่งสูงขึ้นตามน้ำ เจ้าปลาทั้งหลายก็รีบว่ายมาใช้เจ้าหญ้านี้เป็นส่วนประกอบของรังแล้วก็วางไข่ทันที พอน้ำขึ้นสูง แช่น้ำนานๆหญ้าก็เน่าตายเกิดเป็นแพลงต้อนพืชจนน้ำมีสีเขียวอ่อนๆ จากนั้นแพลงต้อนสัตว์ก็มากินแพลงต้อนพืช น้ำก็เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เจ้าลูกปลาที่เกิดมาใหม่ๆก็กินแพลงต้อนสัตว์เหล่านี้เป็นอาหาร เจริญเติบโตอ้วนพี ต่อไปก็มีปลาใหญ่มากินปลาเล็กพวกนี้ จนชาวประมงได้จับปลาใหญ่ทั้งกินทั้งขายจนร่ำรวยไปตามๆกัน
ที่เล่าวิชาการมาเป็นฉากๆนี้ ผมตั้งใจจะพยากรณ์ว่า สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร.10 ทรงห่วงใยบึงบอระเพ็ดที่เกือบเหือดแห้งและให้มีการสูบน้ำเข้ามาในครั้งนี้ นอกจากบึงบอระเพ็ดจะมีน้ำให้ชาวนา ชาวไร่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว สัตว์น้ำก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างเป็นอัศจรรย์ ซึ่งก็จะเป็นไปตามพระราชประสงค์อันเป็นปฐมเหตุที่ ร.7 ได้ทรงพระราชทานบึงบอระเพ็ดให้กับกรมประมงเพื่อให้เป็นคลังของพ่อแม่พันธุ์ปลา สร้างความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำแห่งทุ่งเจ้าพระยาในครั้งโน้น(100 ปีมาแล้ว) ในฐานะอดีตอธิบดีกรมประมงและอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รู้สึกทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นยิ่งนัก