ผบ.ทร.ชงเครื่องยนต์จีน ใส่เรือดำน้ำ แทนของเยอรมัน ชี้ล้มโครงการ เริ่มใหม่เสียงบเพิ่ม

ผบ.ทร. เตรียมชงเครื่องยนต์จีน ให้กลาโหมภายในสัปดาห์หน้า มั่นใจทดแทนเครื่องยนต์เยอรมันได้ เพิ่มออปชั่นประกันฯ 8 ปี เปิดไทม์ไลน์ใช้เวลาติดตั้ง 3 ปี พร้อมเปิดข้อเสียยกเลิกโครงการ ส่อเค้าเสียเวลาตั้งงบเพิ่ม

เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2566 ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ (บก.ทร.) พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงการตัดสินใจ ที่จะใช้เครื่องยนต์ CHD 620 ของจีนมาใส่ในเรือดำน้ำไทย ได้แจ้งความคืบหน้าไปที่กระทรวงกลาโหมแล้วหรือไม่ ว่า กองทัพเรือจะตรวจสอบข้อเสนอของจีน ในการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ขับเคลื่อนกำเนิดไฟฟ้าของเยอรมันเป็นของจีนซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา ได้มีการตรวจสอบข้อมูลที่จีนนำเสนอ รวมถึงมีการส่งเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ ข้อมูลและเครื่องยนต์ และได้มีการยื่นข้อเสนอในการรับประกันเครื่องยนต์ดังกล่าว
00:07/06:44

โดย กองทัพเรือจีน ซึ่งล่าสุดจีนได้เสนอมาที่กองทัพเรือไทย เรียบร้อยแล้ว และเสนอข้อพิจารณาในการแก้ไขข้อตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลเพื่อที่จะขยายระยะเวลาในการสร้างเรือดำน้ำออกไปอีกหากมีการแก้ไขข้อตกลง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการบริหารโครงการ เรือดำน้ำ ได้เสนอเรื่องขึ้นมาที่กองทัพเรือ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายอำนวยการที่เกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาเสร็จกองทัพเรือก็จะนำเสนอรัฐบาลว่าแนวทางที่จีนนำเสนอเรื่องการเปลี่ยนเครื่องยนต์ จากเครื่องยนต์ของเยอรมันเป็นเครื่องยนต์ของจีน ซึ่งกองทัพเรือได้ส่งเจ้าหน้าที่ ไปดูการผลิตเครื่องยนต์ดังกล่าว รวมถึงการรับรองเครื่องยนต์ดังกล่าวจากการทร.จีน เป็นที่เรียบร้อย และเตรียมเรื่องการแก้ไขข้อตกลส่งให้กับกองทัพเรือพิจารณาเรียบร้อยหมด โดยภาพรวม ทางกองทัพเรือ เชื่อมั่นได้ว่าข้อมูลที่ได้รับรวมถึงการตรวจสอบเครื่องยนต์ของจีน ที่เป็นเครื่องกำเนิดเครื่องไฟฟ้า ของเรือดำน้ำ สามารถใช้ทดแทนเครื่องยนต์ของ เยอรมันได้

โดยไม่ทำให้เสียในเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งาน ในเรื่องประสิทธิภาพการใช้งาน แล้วก็เรื่องการรับประกัน ซึ่งทางจีนเนี่ยได้มีการแจ้งการรับประกันเพิ่มเติม จากเดิมตามข้อตกลงเดิมเป็นการรับประกันชิ้นส่วนของเรือน้ำภายหลังส่งมอบเป็นระยะเวลา 2 ปี ในการเจรจาเนี่ยทางการจีนจะพิจารณาให้การสนับสนุนในการรับประกันเครื่องยนต์ดังกล่าว เป็นระยะเวลา 8 ปีพร้อมอะไหล่ พร้อมเจ้าหน้าที่มาดูแลเครื่องยนต์ที่ประเทศไทย รวมถึงการซ่อมบำรุงในช่วงของ 8 ปี ทำไมถึงเป็น 8 ปี เพราะ เป็นระยะเวลาในการอัพเกรดเรือดำน้ำตามช่วงระยะเวลา ก็เป็นข้อมูลที่กองทัพเรือจะสรุปและนำเสนอ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงกลาโหม

สำหรับความจำเป็นในการที่ต้องมีเรือน้ำ กองทัพเรือยังยืนยันว่าตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ และสภาวะแวดล้อมของโลก และประเทศรอบบ้าน กองทัพเรือยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีเรือน้ำในการรักษาสมดุลของความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค เพราะฉะนั้นยังมีความจำเป็น ต้องมีเรือดำน้ำอยู่ ทั้งนี้การตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อโครงการหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ทาง รัฐมนตรีกลาโหม ต้องพิจารณาและนำเสนอเข้าพิจารณาในส่วนของครม. และรัฐบาลต่อไป

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี มีไอเดียที่จะเจรจากับทางเยอรมัน เพื่อขอใช้เครื่องยนต์เยอรมัน มองว่ามีแนวทางความเป็นไปได้หรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า ความจริงกองทัพเรือได้เคยเจรจากับทางการเยอรมันผ่านทาง ผู้ช่วยทูตทหารตั้งแต่ทราบปัญหา ซึ่งทางผู้ช่วยทูตทหารเยอรมันและเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ก็ได้แจ้งข้อมูลนี้ว่า ทางเยอรมันไม่สามารถขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ตามกฎของการห้ามการส่งออก ในกรณีที่สามารถนำไปใช้เป็นอาวุธสงคราม ให้กับทางการจีนได้

แล้วกองเรือก็ได้ทราบข้อมูลจากทางกองทัพเรือจีนว่า แม้ปัจจุบันทางเยอรมันก็ไม่ส่งออกเครื่องยนต์ของเยอรมันเพื่อติดตั้งในเรือน้ำที่จีนต่อเองด้วย เพราะฉะนั้นโดยสรุปแล้วจีนเองก็ต้องผลิตเครื่องยนต์เพื่อใช้กับเติมน้ำของตัวเองในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งจีนมีการพัฒนาเรือน้ำแล้วก็ต่อเรือดำน้ำอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นในอนาคตจีนก็ต้องใช้เครื่องยนต์ของจีนเองในการติดตั้งกับเรือดำน้ำ

เมื่อถามว่าข้อมูลตรงนี้ได้แจ้งให้รมว.กลาโหม รับทราบแล้วหรือไม่ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า ข้อมูลทั้งหมดก็จะอยู่ ในข้อพิจารณาเพื่อเสนอกับรัฐมนตรีกลาโหมทั้งหมด และทางกลาโหมจะเป็นผู้พิจารณาข้อเสนอของกองทัพเรือ

เมื่อถามว่า จุดยืนของกองทัพเรือ คือพร้อมและเต็มใจสบายใจที่จะใช้เครื่องยนต์เรือดำน้ำจีน พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า ได้มีการตรวจสอบแล้วว่าเครื่องยนต์ของจีนมีคุณสมบัติ และขีดความสามารถเทียบเท่ากับเครื่องยนต์ของเยอรมัน โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยกับข้อมูลการใช้งานทางด้านยุทธการ ก็สามารถใช้ทดแทนกันได้

เมื่อถามว่า จะยืนยันกับ ครม. กับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ไป ตามที่จะได้ส่งเรื่องขึ้นไปใช่หรือไม่ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า ก็ยืนยันเป็นข้อมูลให้กับ ทางรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งตามข้อตกลง ถ้ามีการแก้ไข ข้อตกลงจะต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างเรือดำน้ำเพิ่มเติมอีกประมาณเกือบ 3 ปี เพราะต้องอยู่ในขั้นตอนการผลิตเครื่องยนต์ก่อน แล้วมาติดตั้งกับเรือน้ำที่ที่มีการต่อไว้แล้วในระดับหนึ่ง

เมื่อถามว่าได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหมแล้วหรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ได้มีการเรียนให้ทราบแล้ว ตอนที่ท่านมาแถลงนโยบายที่กระทรวงกลาโหม ก็ได้นำเสนอข้อมูลตามที่เสนอกับนักข่าวให้ท่านได้รับทราบแล้ว

เมื่อถามว่า ท่าทีของรัฐบาลเป็นอย่างไร จะยกเลิกหรือแก้ไขสัญญาหรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยในเรื่องนี้ ต้องรอทั้งรัฐมนตรีรับข้อมูลแล้วก็ไปพิจารณาอีกที

เมื่อถามว่า หากมีการยกเลิก จะมีการชี้แจงย้ำหรือไม่ ว่าจะต้องเป็นเครื่องยนต์ของจีน พล.ร.อ.เชิงชายกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีการคุยกันในระดับรัฐมนตรีก่อน เพื่อนำเรียนข้อมูล ตามที่รัฐมนตรีต้องการรับทราบข้อมูล

เมื่อถามว่า กองทัพเรือ จะส่งข้อมูล ให้รมว.กลาโหมได้เมื่อไหร่ พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายอำนวยการกำลังพิจารณา ก็จะพยายามเร่งรัดเรื่อง และเสนอไปที่กระทรวงกลาโหม และจะพยายามให้ทันในสมัยที่ตนยังดำรงตำแหน่งอยู่ และได้เตรียมเรื่องไว้ทั้งหมดแล้ว และพร้อมเสนอขึ้นไป โดยจะพยายามเร่งให้ทันภายในสัปดาห์หน้า

เมื่อถามย้ำว่า ภารกิจสุดท้ายของ ผบ.ทร ที่อยากทำให้สำเร็จคือ ให้เรือดำน้ำลำแรกเดินหน้าต่อ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า ตนมาทำหน้าที่ผู้บัญชาการทหารเรือ ในการตรวจสอบข้อมูลว่า ตามที่ทางการจีนเสนอเปลี่ยนเครื่องยนต์จากเยอรมันเป็นของจีน สามารถทำได้หรือไม่ มีการยอมรับได้หรือไม่ ซึ่งได้มีการพิสูจน์แล้ว และตรวจสอบข้อมูลแล้ว และได้ทำการทุกอย่างแล้ว ในการพิจารณาว่า สามารถปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ เรือดำน้ำไทยได้ โดยไม่ทำให้เสีย คุณค่าทางยุทธการ และความปลอดภัย และทางกองทัพเรือจีน ก็รับประกัน ว่าเครื่องยนต์ดังกล่าว สามารถติดตั้งกับเรือดำน้ำน้ำไทยได้ ซึ่งเรือดำน้ำที่ปากีสถานต่อกับจีน 8 ลำ ปัจจุบัน ก็มีการเดินหน้าในการผลิตเครื่องยนต์ เพื่อติดตั้งในเรือดำน้ำปากีสถานเรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามถึงท่าทีของรมว.กลาโหม ที่ดูเหมือนอยากได้เรือดำน้ำของทางเยอรมัน พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า ก็ต้องพิจารณาภายหลังจากที่รัฐบาลพิจารณาว่า จะเดินหน้าต่อโครงการเรือดำน้ำของจีนหรือ หรือจะเปลี่ยนเป็นโครงการอื่น ซึ่งก็ต้องไปเริ่มพิจารณารายละเอียดกันใหม่ แต่การเริ่มต้นโครงการใหม่ ปัญหาคือเรื่องงบประมาณ เพราะว่า การจัดหาเรือน้ำ เป็นลักษณะจัดหาแบบแพ็กเกจ ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง อย่าลืมว่าการตั้งโครงการเรือดำน้ำเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เราตั้งโครงการเรือดำน้ำ 2 ลำ มูลค่าโครงการ 36,000 ล้านบาท เป็นเรือน้ำมาตรฐาน ปัจจุบันเนี่ยราคาน่าจะสูงขึ้นกว่าในอดีต และถ้าเป็นการจัดหาเรือดำน้ำทั่วไป ก็จะต้องจัดหาอย่างน้อย 2 ลำซึ่งน่าจะใช้งบประมาณมากกว่า 36,000 ล้านบาท การตั้งงบประมาณขนาดนั้น เกรงว่างบเสริมสร้างของกองทัพเรืออาจจะไม่เพียงพอ ถ้าจะต้องตั้งงบประมาณสูงขนาดนั้น

“ส่วนไอเดียรัฐบาลที่จะใช้นโยบายการค้าต่างตอบแทนนั้น ตนมองว่าอยู่ที่รัฐบาลจะต้องเจรจาในเรื่องนี้ กองทัพเรือแค่เสนอความต้องการและเสนอแนวทางในการพิจารณาเรื่องงบประมาณให้รัฐบาลพิจารณา”