ดันโรดแมปพัฒนาเมืองเชียงใหม่ 20 ปี สมาร์ดซิตี้-เร่งสนามบินแห่งที่ 2

วิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอฯเชียงใหม่ ดันโรดแมปพัฒนาเมือง 20 ปี สมาร์ดซิตี้-เร่งสนามบินแห่งที่ 2

เมืองเชียงใหม่เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ขาดการวางแผนการพัฒนาเมืองอย่างรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจราจร ส่งผลให้วันนี้เชียงใหม่ต้องเผชิญกับปัญหารถติดหนัก ระบบขนส่งมวลชนที่มีอยู่ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงเติบโตไม่หยุด และถือเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของเชียงใหม่ จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทย-เทศ หลั่งไหลเข้ามาจนล้นสนามบิน ซึ่งปีนี้จำนวนผู้โดยสารพุ่งขึ้นเกือบ 10 ล้านคน แต่ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่รองรับได้เพียง 8 ล้านคนต่อปีเท่านั้น

ทั้งหมดเป็นปัญหาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้เร่งผลักดันรัฐบาลให้วาง “โรดแมป” ในระยะ 20 ปี เพื่อเร่งรัดโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “วิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์” ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ไว้อย่างน่าสนใจ ทางมติชนสุดสัปดาห์ขอนำบางช่วงบางตอนมาให้อ่านกันครับ สำหรับบทสัมภาษณ์เต็ม  คลิกที่นี่

“วิภาวัลย์” บอกว่า จะเสนอให้รัฐบาลวางโรดแมป (road map) การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ระยะ 20 ปี เพื่อให้มีแผนการพัฒนาที่ชัดเจนต่อเนื่องในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเร่งรัดแผนการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ภาคเหนือตอนบน 1

เนื่องจากอัตราการขยายตัวของผู้โดยสารเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าในระยะยาวจะไม่เพียงพอในการรองรับได้

ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่มีศักยภาพรองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคน/ปี แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในปี 2558 มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 จากปี 2557 เป็น 8.36 ล้านคน และในปี 2559 เพิ่มเป็น 9 ล้านคน คาดว่าปี 2560 จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาสนามบินแห่งที่ 2 จะต้องพิจารณาถึงการวางแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องคู่กันไปด้วย ได้แก่ ระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยง ระบบขนส่งสาธารณะ การจัดผังเมืองใหม่รองรับ การจัดพื้นที่เขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการบิน ได้แก่ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ฝึกการบินพลเรือน การบริการการบินท่องเที่ยวและบริการ เป็นต้น เพื่อเตรียมพร้อมรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และการเป็นศูนย์กลางการบินในอนุภูมิภาคของภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องอยู่ในโรดแมป 20 ปีของจังหวัดเชียงใหม่ คือ โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาวิกฤตจราจรมาก

ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้สรุปโครงการการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ได้ข้อสรุปทางเลือก 2 รูปแบบ คือ แบบ A เป็นโครงข่ายผสมผสานที่ใช้ทางวิ่งบนดินและใต้ดิน และแบบ B เป็นโครงข่ายทางวิ่งบนดิน ซึ่งใช้ขนส่งระบบหลักคือ รถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit : LRT) มีระบบรองคือ รถบัสหรือรถเมล์ที่จะเป็น feeder รองรับคนที่จะไปสู่จุดหมายหลักในเส้นทางต่าง ๆ

วิภาวัลย์บอกว่า หอการค้าเชียงใหม่จะนำเสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณาเร่งรัดการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ โดยอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการลงทุนในรูปแบบที่เหมาะสม และเลือกรูปแบบที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ซึ่งเห็นว่ารูปแบบ A จะมีความเหมาะสมสูงสุด สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตจราจร รวมถึงการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนในอนาคตได้

ขณะที่โครงการมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย ก็เป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน และระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่-หลวงพระบาง ที่จะเชื่อมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไปยังจีนและยุโรปในอนาคตได้ผ่านจังหวัดน่าน รวมถึงเกื้อหนุนต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ภายใต้ 3 รูปแบบ คือ 1.รัฐลงทุนทั้งหมด 2.รัฐร่วมทุนกับเอกชน และ 3.เอกชนลงทุนทั้งหมด ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าอาจเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)

สำหรับปัญหาผังเมืองก็จะต้องมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาคเหนือ เพื่อลดความแออัดในตัวเมือง ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โครงการสนามบินแห่งที่ 2 โครงการขนส่งมวลชนในแต่ละจังหวัด รวมถึงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญเรื่องการแบรนดิ้งเมืองเชียงใหม่ สู่เมือง marketplace ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล และการเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ เนื่องจากในอนาคตการค้าจะไร้พรมแดนมากขึ้นและมีระบบเทคโนโลยีในรูปแบบ smart city ที่จะเอื้อให้เชียงใหม่มีความพร้อมในการเป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์และมุ่งสู่การเป็นพื้นที่ทางการตลาดได้

ในส่วนแผนงานของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่นั้น จะมุ่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้เป็นเมืองที่เติบโตภายใต้ digital economy และ smart city สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการมากขึ้น และเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ