แฟ้มข่าวเศรษฐกิจ : ธุรกิจวิตกบาทแข็งฉุดแข่งขัน / ผ่านแล้วร่าง กม.สตาร์ตอัพ / ห่วงจีน-เกาหลีผูกขาด “เออีซี”

ธุรกิจวิตกบาทแข็งฉุดแข่งขัน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) กังวลต่อทิศทางค่าเงินบาท ยังมีแนวโน้มผันผวนในกรอบที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่ขาดแรงหนุนใหม่ๆ ในระยะอันใกล้นี้ โดยที่ประชุม กกร. มีความเป็นห่วงว่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วเกินไป อาจจะไม่เป็นผลดีต่อภาคการค้าระหว่างประเทศในระยะต่อไป โดยปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือน แตะ 32.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งความเคลื่อนไหวของเงินทุนระยะสั้นดังกล่าว อาจส่งผลกระทบถึงความสามารถในการแข่งขันและการประกอบการของผู้ส่งออกได้ รัฐบาลจึงควรดูแลให้ความเคลื่อนไหวเงินทุนระยะสั้นดังกล่าวให้กระทบต่อผู้ประกอบการให้น้อยที่สุด จึงอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นที่อาจส่งผลเชิงลบมากกว่า ส่วนมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยปี 2560 แนวโน้มดีและขยายตัว 3.7-4% และส่งออกขยายตัว 6.5-7.5% โดยคาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัวถึง 4% และการส่งออกน่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 6%

ผ่านแล้วร่าง กม.สตาร์ตอัพ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปี 2560 พร้อมพิจารณาการขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ตอัพ) ของไทย โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและนวัตกรรมเชิงนโยบาย พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ.) เพื่อสนับสนุน แก้ไขข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาของระบบนิเวศในการสนับสนุนสตาร์ตอัพ โดยกำหนดขอบเขตคำนิยามของสตาร์ตอัพไว้อย่างชัดเจน ซึ่งในกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้าน 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น และคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบาย ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานชุดที่ 2 นำเสนอร่าง พ.ร.บ. ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

อีอีซีดันลงทุนอุตฯ พุ่งพรวด

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2561 คาดว่าการลงทุนของประเทศจะเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะมูลค่าลงทุนของภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นกว่า 10% ต่อปี จากปัจจุบันยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) อยู่ 5-6 แสนล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-10% ต่อปี จากปัจจัยหลักจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่วนการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย พบว่ามีนักลงทุนต่างชาติจากจีนและญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุนตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมด้านการกำจัดกากอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้มีการลงทุนในพื้นที่อีอีซีไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ในส่วนขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) และขยายกิจการช่วง 11 เดือน มีจำนวน 4,708 โรงงาน ลดลง 0.50% มูลค่าลงทุนเพิ่มขึ้น 13.94% และพบว่าช่วง 11 เดือน ลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอสเคิร์ฟ) 1,364 โรงงาน เงินลงทุน 1.51 แสนล้านบาท

ห่วงจีน-เกาหลีผูกขาด “เออีซี”

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการสำรวจการค้าขายและการลงทุน ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทั้งก่อนและหลังเปิดเสรีนำเข้าของกลุ่ม 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ที่มีการลดภาษีเป็น 0% สมบูรณ์ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 พบว่า หลังเออีซีประเทศสมาชิกในอาเซียนค้าขายกันเอง มีสัดส่วนที่ลดลงจากก่อนเออีซีมีสัดส่วน 26% ลดเหลือ 22% ในปีนี้ แต่ค้าขายกับประเทศนอกอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาเซียนค้าขายกับประเทศจีน สัดส่วนจาก 11% เป็น 17% ขณะที่ค้าขายกับสหรัฐลดลงจาก 15% เหลือ 12% ยุโรปจาก 13% เหลือ 11% และญี่ปุ่น 10% เหลือ 7% ที่น่าสนใจคือ 6 ประเทศอาเซียนเก่า ค้าขายกับตลาดโลกมีอัตราขยายตัว 40-90% แต่ 4 ประเทศซีแอลเอ็มวีค้าขายกับตลาดโลกมีอัตราขยายตัวสูงถึง 400-1,000% ดังนั้น ในการสำรวจเกิดข้อกังวลว่าประเทศนอกอาเซียนจะเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการค้าการลงทุนในอาเซียน แทนที่ประเทศในอาเซียนจะได้ประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์กันเองกับการเปิดเออีซี

เคาะ 10 มาตรการอุ้มเอสเอ็มอี

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงเตรียมมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือเอสเอ็มอี 10 มาตรการ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อเริ่มใช้ต้นปี 2561 เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเอสเอ็มอี โดยในความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากแบงก์รัฐรวมประมาณ 2 แสนล้านบาท เมื่อรวมแบงก์พาณิชย์ที่มี จะรวมกันอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท บางมาตรการแบงก์รัฐอาจต้องขอชดเชยดอกเบี้ยเนื่องจากเป็นการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ คาดใช้งบประมาณไม่มาก และบางแบงก์สามารถปล่อยสินเชื่อได้เอง โดยไม่ต้องขอรับการชดเชยจากรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการการเงินของแบงก์รัฐ น่าจะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่น้อยกว่า 2 แสนราย และรวมกับมาตรการช่วยเหลืออื่นอีก 9 มาตรการในการยกระดับมาตรฐานและเศรษฐกิจชุมชน คาดว่าจะให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านราย

บสย.เร่งอนุมัติค้ำสินเชื่อรายย่อย

นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ในรอบ 11 เดือน ปี 2560 ยังขยายตัวต่อเนื่อง มียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 75,428 ล้านบาท ขณะที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 106,196 ราย เกินเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการของรัฐบาลและความร่วมมือจากพันธมิตรสถาบันการเงิน และความต้องการสินเชื่อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายตามแผนวิสาหกิจ 86,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้

เจนวายนิยมใช้จ่ายผ่านบัตร

นายสมหวัง โตรักตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ของบัตรเครดิตกรุงศรี เจซีบี แพลทินัมใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนเจนวาย ซึ่งจากการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มคนวัยเริ่มทำงาน อายุ 25 ปีขึ้นไป พบว่าส่วนใหญ่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง รักอิสระ ชอบการเดินทางท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ชื่นชอบไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย ทั้งกิน ดื่ม และจับจ่าย จึงนำมาเป็นแนวคิดหลักของบัตร คือ เปิดประสบการณ์ใหม่ แล้วไปให้สุด

โดยปี 2561 ตั้งเป้ามียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตขึ้น 50% จากปีนี้คาดมีผู้ถือบัตรเครดิตกรุงศรี เจซีบี แพลทินัม เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 แสนใบ