ก.อุตฯ เตือนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ปรับตัวรับรถยนต์ไฟฟ้า

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคต ว่า ต้องการให้ผู้ประกอบการไทยทั้งผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วน เตรียมความพร้อมด้วยการปรับตัวให้เติบโตหรืออยู่รอดให้ได้กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ามาถึง เพราะทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์โลกจะมุ่งสู่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ได้แก่ รถไฟฟ้าไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง ในประเทศไทยมีการผลิตรถไฟฟ้าแล้ว 2 ประเภทคือ รถไฟฟ้าไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน ซึ่งภาครัฐได้กำหนดนโยบายและ มาตรการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยได้เปิดกว้างรับทุกเทคโนโลยี เพราะผู้ผลิตแต่ละรายจะมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป

“หากไม่ปรับตัวอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และอาจส่งผลให้ธุรกิจค่อยๆ ล้มหายไป เหมือนอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับอุตสาหกรรมผู้ผลิตจอภาพโทรทัศน์ของไทย ซึ่งเคยเป็นผู้นำในการผลิตทีวีจอแก้ว แต่มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ไปเป็นจอแอลซีดี แอลอีดี เต็มรูปแบบ และในปัจจุบันเป็นจอโอแอลอีดี ดังนั้นหากชะล่าใจไม่ปรับตัว อาจทำให้สูญเสียตลาดให้กับคู่แข่งได้ ล่าสุดผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถใช้บริการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต(ไอทีซี) เพื่อช่วยออกแบบ แก้ปัญหา และร่วมคิดทดสอบผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนใหม่ที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีรถไฟฟ้า รวมทั้งความต้องการของตลาด”นายพสุกล่าว

นายพสุกล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลล่าสุดของสถาบันยานยนต์ พบว่า มีผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ประมาณ 1,600 ราย เป็นกิจการของคนไทยจำนวน 850 ราย โดยรถยนต์นั่ง 1 คัน จะประกอบด้วยชิ้นส่วนหลัก จำนวน 800-2,200 ชิ้น โดยการพัฒนารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่นั้น จะส่งผลกระทบกับผู้ผลิตชิ้นส่วน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือชิ้นส่วนที่จะหายไป ได้แก่ เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง หม้อน้ำ กลุ่มที่สองชิ้นส่วนที่จะมีอยู่ ได้แก่ ระบบเกียร์ ระบบเบรก ชิ้นส่วนที่มีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการประหยัดพลังงาน และด้านความปลอดภัย ระบบปรับอากาศที่ใช้ไฟฟ้าและกลุ่มที่ 3 ชิ้นส่วนใหม่ ได้แก่ แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า และกล่องควบคุม หรือชิ้นส่วนที่มีการใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาขึ้น