กรมอนามัยเผยข้อมูล “ชาวนา-ชาวประมง” ขยับร่างกายมากสุด อีก 2 อาชีพ สวนทาง

วันที่ 8 ธันวาคม 2560 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงชุดคู่มือข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับ ว่า ชุดคู่มือดังกล่าวมีทั้งหมด 9 เล่ม แบ่งเป็นคู่มือกิจกรรมทางกายสำหรับ 5 กลุ่มวัยคือ ปฐมวัย วัยเรียนวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยสูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศในการจัดทำ และอีกชุดคือกิจกรรมทางกายสำหรับ 4 อาชีพ คือ ชาวนา พนักงานบริษัท พนักงานขับรถ และชาวประมง ซึ่งร่วมกับ สสส.และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการจัดทำ

“แต่ละอาชีพมีกิจกรรมทางกายแฝงอยู่ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่จะหนักหรือเบาขึ้นกับแต่ละกิจกรรมของอาชีพนั้นๆ ทำให้แต่ละอาชีพมีความแตกต่างของการใช้พลังงานและกล้ามเนื้อในการทำงาน จึงต้องมีการวิเคราะห์เพื่อกำหนดรูปแบบการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมในแต่ละอาชีพ โดยคู่มือกิจกรรมทางกายแต่ละอาชีพได้จัดทำขึ้นเป็น 4 อาชีพหลักของคนไทยที่มีกิจกรรมทางกายที่แตกต่างกันคือ ชาวนา ชาวประมง พนักงานออฟฟิศ และผู้ทำงานขับรถ” นพ.วชิระ กล่าว

นพ.วชิระ กล่าวว่า 1.อาชีพทำนามีการใช้พลังงานและแรงกล้ามเนื้อหลายส่วน โดยมีกิจกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงของฤดูทำนาคือ ช่วงเตรียมดิน ดำนา บำรุงข้าว และเกี่ยวข้าว มีการใช้พลังงานต่อวันจากการทำงานแต่ละช่วงคือ 1,579  1,413  1,409  และ 1,507 กิโลแคลอรีตามลำดับ หรือคิดเป็นกิจกรรมทางกายคือระดับปานกลางถึงหนักประมาณ 360 นาทีต่อวัน หรือ 2,520 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าข้อแนะนำกิจกรรมทางกายในผู้ใหญ่ คือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ หากชาวนาต้องการมีกิจกรรมทางกายเพิ่มเติมหลังทำงาน สามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเพื่อความสนุกสนานหรือคลายเครียด แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมในทุกช่วงของการทำนาคือ เพิ่มความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ สร้างความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ เนื่องจากบางช่วงมีการใช้กล้ามเนื้อที่อาจทำให้บาดเจ็บได้ เช่น การก้มตัวเพื่อดำนาเป็นเวลานาน หรือการยกกระสอบเมล็ดข้าว เป็นต้น

นพ.วชิระ กล่าวว่า 2.ชาวประมง มีกิจกรรมทางกาย 2 ช่วง คือ ช่วงทำประมง ระยะเวลาประมาณ 9 เดือน มีการใช้พลังงานต่อวันจากการทำงาน 3,022 กิโลแคลอรี หรือคิดเป็นกิจกรรมทางกายคือระดับปานกลางถึงหนักประมาณ 480 นาทีต่อวัน หรือ 3,360 นาทีต่อสัปดาห์  และช่วงพักในฤดูมรสุม 3 เดือน มีการใช้พลังงานต่อวัน 186 กิโลแคลอรี หรือมีกิจกรรมทางกายระดับเบา 180 นาทีต่อวันหรือ 1,260 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งทั้งสองช่วงมีความแตกต่างของกิจกรรมมาก จึงแนะนำว่า ช่วงพักควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางหรือหนักอื่นๆ เพิ่ม เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ทำงานบ้าน เป็นต้น และควรบริหารร่างกายเพื่อสร้างความทนทานของกล้ามเนื้อ 2-3 วันต่อสัปดาห์ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้ครยทุกส่วน 5-7 ครั้งต่อสัปดาห์  ส่วนช่วงทำประมงควรเพิ่มกิจกรรมสร้างความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ โดยเฉพาะระหว่างการทำงาน เพื่อให้กล้ามเนื้อที่เกร็งคลายตัว

นพ.วชิระ กล่าวว่า 3.พนักงานบริษัท มักใช้เวลานั่งทำงานประมาณ 7 ชั่วโมงต่อวัน อาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคอ ไล่ หลัง นิ้วล็อก จากท่านั่งใช้คอมพิวเตอร์ โดยพนักงานบริษัทมีการใช้พลังงานต่อวันจากการทำงานประมาณ 600 กิโลแคลอรี มีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางในแต่ละวันผ่านรูปแบบการเดินสั้นๆ เช่น ไปขึ้นรถโดยสาร ถือว่าเป็นอาชีพที่มีกิจกรรมทางกายน้อย โดยกิจกรรมทางกายที่ควรทำคือ ระหว่างทำงานควรลุกยืนเดินทุก 2 ชั่วโมงให้ระบบเลือดไหลเวียนดี ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ลดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่เกร็ง ส่วนช่วงเลิกงานควรมีการเคลื่อนไหวแบบแอโรบิกอย่างน้อย 10 นาที สะสมให้ได้ 30 นาทีต่อวัน เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ขึ้นบันได ว่ายน้ำ เป็นต้น หากไม่มีเวลาว่างให้เคลื่อนไหวจากการทำงานบ้านแทน นอกจากนี้ควรสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน เครื่องออกกำลังกายที่สาธารณะหรือฟิตเนส

นพ.วชิระ กล่าวว่า และ 4.ผู้ทำงานขับรถ จะอยู่ในท่านั่งเป็นเวลานาน ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว โดยรูปแบบการคเลื่อนไหวของร่างกายคือมีท่าทางที่ซ้ำๆ และอยู่ในพื้นที่จำกัด และต้องบังคับรถตลอดเวลา ทำให้ต้องเกร็งกล้ามเนื้อหลายส่วนคอ ลำตัว แขน ขา ทำให้มีอาการเมื่อยล้า ทั้งนี้ คนทไงานขับรถมีการใช้พลงงานจากการทำงานต่อวันคือ 500 กิโลแคลอรี โดยแทบไม่มีกิจกรรมระดับปานกลางถึงหนักเลย ถือเป็นอาชีพที่มีกิจกรรมทางกายน้อยกว่าข้อแนะนำ หากจะเพิ่มกิจกรรมทางกายในอาชีพนี้ทำได้ใน 2 ช่วงคือ ระหว่างทำงาน ควรจอดรถหยุดพักทุก 2 ชั่วโมง ลุกขึ้นยืน เดิน เพิ่มการเผาผลาญ และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ส่วนช่วงเลิกงานควรทำกิจกรรมทางกายเพิ่มเติม คือ ออกกำลังกาย เล่นกีฬา สะสมให้ได้วันละ 30 นาที หากไม่สะดวกอาจใช้การทำความสะอาดรถเป็นตัวช่วย หรือทำงานบ้าน และอาจไปออกกำลังกายตามที่สาธารณะหรือฟิตเนสเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วย