แนวรบ สลับดอก หลังปรับ ครม. เศรษฐกิจ การเมือง

คล้ายกับว่า ผู้นำรัฐบาลและ คสช.จะให้ความใส่ใจยิ่งกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน

พิจารณาจาก

ประการหนึ่ง รายชื่อของการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด

ประการหนึ่ง การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของรองนายกรัฐมนตรีครั้งล่าสุด

ในการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้าย รัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งได้แก่

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ขณะที่รัฐมนตรีหน้าใหม่ได้แก่

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นายกฤษฎา บุญราช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายลักษณ์ วจนานวัช และ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายอุดม คชินทร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นายสมชาย หาญหิรัญ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ขณะที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ขยับขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ

โดยมี น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สนิทสนมกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ไถลมาเป็นระดับช่วยว่าการเหมือนเดิม

ยิ่งพิจารณาจากการแบ่งงานรองนายกรัฐมนตรียิ่งชัดเจน

ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัยได้รับมอบหมายงานด้านสังคม

อาทิ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ก็ได้รับมอบหมายงานเพิ่มขึ้น ให้กำกับดูแล

กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

น่าสังเกตตรงที่กระทรวงที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเพิ่มขึ้นในครั้งนี้

นอกจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแล้ว

ก็คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เป็นความพยายามปรับปรุงจุดอ่อนด้าน “เศรษฐกิจ” อันเป็นจุดที่รัฐบาลได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด 3 ปี

แต่พลันที่จุดอ่อนหนึ่งได้รับการปะผุแก้ไข

จุดอ่อนอื่นก็เผยโฉมโผล่ขึ้นมาแทนที่

เป็นจุดอ่อนด้าน “การเมือง” ที่เหมือนจะเคยเป็นจุดแข็งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเสียชีวิตของ “น้องเมย”

การตวาดใส่ประชาชน

การใช้กำลังกับผู้ชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

การพูดจาเหยียดหยามแกนนำการชุมนุม

มาจนทั่งถึงกรณี “นาฬิกาเรือนล้าน” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม

สะท้อนให้เห็นถึงความเลื่อนไหลของปัญหาและสถานการณ์

สะท้อนให้เห็นอาการ “สั่นไหว-ไม่มั่นคง” ที่เป็นธรรมชาติ-ธรรมดาของรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจมาช่วงเวลาหนึ่ง

นี่ยังไม่นับ ความพยายามในการ “เลื่อนการเลือกตั้ง” ให้ยาวนานออกไป

ซึ่งมีแนวโน้มจะ “เรียกแขก” ได้มากยิ่งกว่านี้