สศช.หนุนนใช้เทคโนโลยี-คลอดกฎหมาย รับมือสังคมสูงวัย

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ได้จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 3/2560” โดยมีนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. เป็นผู้แถลง พร้อมเผยแง่มุมเรื่องระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในประเทศไทย ซึ่งมุ่งเน้นไปยังนวัตกรรมที่เหมาะสมจากชุมชน โดยภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ฐานทุนและทรัพยากรในพื้นที่ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีมาปรับใช้ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้สูงอายุ

นายปรเมธี เผยว่า ในประเทศไทยปี พ.ศ. 2560 มีจำนวนผู้สูงอายุ 11 ล้านคน หรือประมาณ 17 เปอร์เซ็น ของประชากรในปี พ.ศ. 2564 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน และในปี พ.ศ. 2583 ตัวเลขผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 3 ของประชากร แสดงให้เห็นว่าต้องมีการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

“จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การดูแลจากภาคส่วนต่างๆมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ขนาดของครอบครัวที่เล็กลง หรือสมาชิกบางคนในครอบครัวก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุเสียเอง ทำให้การดูแลกันภายในครอบครัวทำได้ยากขึ้น ในส่วนของศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุของชุมชน ก็มีความแตกต่างกันตามบริบท เช่น ชุมชนชนบท จะมีเวลาในการดูแลผู้สูงอายุได้มาก แต่ก็ขาดความรู้และอุปกรณ์ แต่ในสังคมเมืองจะตรงข้ามกันคือ มีความรู้ มีอุปกรณ์ แต่ขาดในเรื่องของเวลา ทางด้านสถานบริการและผู้รับจ้างดูแลผู้สูงอายุก็มีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน เช่น ขาดการกำกับควบคุมคุณภาพ และข้อจำกัดด้านจำนวนและศักยภาพของบุคลากร ซึ่งขณะนี้ก็ได้ผลักดันให้มีศักยภาพมากขึ้น”นายปรเมธี กล่าว

นายปรเมธี เผยต่อว่า เราต้องมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้เกิดความครอบคลุมและประหยัดต่อทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ “หุ่นยนต์ดินสอ” แจ้งเตือนเรียกแพทย์ฉุกเฉินผ่านจอสัมผัส หรือนวัตกรรมที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น เครื่องช่วยเหลือทางการแพทย์จากวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่ เพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆของผู้สูงอายุ เช่น “สมอไม้คลายเส้น” ใช้นวดบำบัดอาการปวดเมื่อย อัมพฤกษ์ อัมพาต “ลูกคิดนวดฝ่าเท้า” ซึ่งผลิตจากกะลามะพร้าวที่หาได้ในชุมชน ใช้นวดคลายเส้น หรือนวัตกรรมชุมชนที่ออกแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น “โครงการแสนสุขสมาร์ตซิตี้” ที่ ต.แสนสุข จ.ชลบุรี ซึ่งมีผู้สูงอายุในชุมชนกว่า 6,000 คน ได้รับการดูแลอยู่ในโครงการนี้ รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมอีกด้วย เช่น ไม้เท้าแจ้งเตือนการล้มสำหรับผู้สูงอายุ ที่เป็นผลงานของนักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างสงขลา ซึ่งได้รางวัลชนะเลิศ จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในระดับนักเรียน – นักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา

ทั้งนี้นายปรเมธี ได้กล่าวถึงประเด็นการพัฒนาการจัดการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวเพื่อสนับสนุนการดูแลให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับความต้องการเพิ่มเติม ซึ่งมีอยู่ 4 ประเด็น คือ

1. การสนับสนุนและพัฒนาการดำเนินงานที่มีปัจจุบัน ได้แก่ (1) การสนับสนุนการดูแลในชุมชนตามลักษณะของพื้นที่ โดยเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างความร่วมมือทุกระดับ พัฒนาฐานข้อมูล สนับสนุนทีมหมอครอบครัวและเพิ่มกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อขยายการดูแลแบบรายกรณี (Care Manager) ปรับปรุงกฎระเบียบด้านการเงินและสนับสนุนงบประมาณในท้องถิ่นที่มีรายได้ไม่เพียงพอ (2) การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดชุดบริการป้องกันดูแลผู้สูงอายุระยะยาว รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของครอบครัวซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพและช่วยกิจวัตรประจำวันผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้อง และ (3) การส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ การดูแลและติดตามการรักษาระยะไกลลดการเข้าสู่สถานบริบาลก่อนความจำเป็น เทคโนโลยีป้องกันการบาดเจ็บ ส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพและติดตามการบำบัดรักษา

2. การกำหนดมาตรฐานการดูแลตามระดับการดูแล รวมทั้งออกกฎระเบียบเพื่อขึ้นทะเบียนและกำกับดูแลให้การบริการมีคุณภาพตามมาตรฐานของสถานบริการภาคเอกชน

3. การสนับสนุนการจัดบริการดูแลระยะกลาง โดยใช้โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิเป็นฐานการจัดการในช่วงกลางวัน (Day Care) เพื่อช่วยรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดสังคมและติดบ้าน และจัดทำแผนการดูแลเชิงสังคมเพื่อให้เข้ากับแผนการดูแลทางการแพทย์ ทำให้มีการดูแลแบบครบทุกมิติ

4. การผลักดันกฎหมายและสร้างเครื่องมือทางการเงินในการจัดบริการ อาทิ การผลักดันกฎหมายการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในทุกหน่วยงานและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน การพัฒนาระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุมในประเด็นการดูแลระยะยาว การใช้พันธบัตรเพื่อสังคม (Social Impact Bond) เพื่อเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ