สื่อรัฐบาลจีนเผยแพร่คำแนะนำเตรียมรับมือการโจมตีจากอาวุธนิวเคลียร์

แฟ้มภาพ-เอเอฟพี

วันที่ 6 ธันวาคม 2560 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า หนังสือพิมพ์จี้หลิน เดลี่ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของรัฐบาลจีนในเมืองจี้หลินซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของจีนและติดกับชายแดนเกาหลีเหนือ ได้เผยแพร่ข่าวในคอลัมน์หนึ่ง แนะนำให้ผู้อ่านปกป้องตัวเองจากอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งการเผยแพร่คอลัมน์ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่จีนได้ส่งเสียงด้วยความกังวลอย่างหนักต่อโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ พร้อมกับเรียกร้องให้สหรัฐฯและเกาหลีใต้หยุดแสดงการยั่วยุใส่เกาหลีเหนือ

โดยในคอลัมน์ดังกล่าว ไม่ได้กล่าวถึงการโจมตีที่เป็นไปได้ไม่ว่าเกาหลีเหนือหรือประเทศอื่น แต่อธิบายว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นอาวุธที่แตกต่างจากอาวุธอื่นทั่วไป และยังแนะนำว่าประชาชนควรปกป้องตัวเองจากการโจมตีเหล่านี้ยังไง

คอลัมน์ยังอธิบายว่า อาวุธนิวเคลียร์จะส่งผล 5 อย่างที่ทำให้เกิดการทำลายล้าง ตั้งแต่ แสงรังสี คลื่นระเบิด รังสีนิวเคลียร์ระยะแรก คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านิวเคลียร์ และมลพิษจากกัมมันตภาพรังสี และยังกล่าวว่า 4 อย่างแรกจะสังหารชีวิตให้ตายในทันที ประชาชนคนใดที่พบว่าอยู่นอกเขตการโจมตี ควรพยายามหลบลงคูลึก ปกคลุมผิวด้วยเสื้อสีสว่าง หรือดำน้ำลงในแม่น้ำหรือทะเลสาบเพื่อพยายามหรือลดความเป็นไปได้ในการเสียชีวิตในทันที

อีกทั้ง ยังมีภาพการ์ตูนอธิบายการกำจัดสิ่งปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีอีกด้วย อย่างเช่น การใช้น้ำล้างรองเท้า ใช้คอตตอลบัตต์ทำความสะอาดหู ภาพเด็กกำลังอาเจียนเพื่อแสดงวิธีการช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อเร่งการขับรังสีออกด้วยการปั๊มท้องและการปัสสาวะออก

นอกจากนี้ คอลัมน์ดังกล่าวยังเล่าย้อนประวัติศาสตร์ที่สหรัฐฯได้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ใส่เมืองฮิโรชิม่าของญี่ปุ่นจากมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นรังสีและแรงระเบิดกว่า 7 หมื่นคน และ81% ของเมืองพังราบเป็นหน้ากลอง

ทั้งนี้ เกาหลีเหนือได้ทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปหรือไอซีบีเอ็ม ที่กล่าวว่าก้าวหน้าที่สุดจนทำระยะถึงแผ่นดินสหรัฐฯได้แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กล่าวเตือนจะทำลายรัฐบาลเกาหลีเหนือหากคุกคามสหรัฐฯด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ในทางกลับกัน ฝ่ายจีนปฏิเสธการแทรกแซงทางทหารและเรียกร้องให้สหรัฐฯและเกาหลีเหนือยุติสงครามน้ำลาย ด้วยความหวั่นความขัดแย้งเกิดการแตกหักหรือความโกลาหลหลังระบอบของเกาหลีเหลือล่มสลาย ซึ่งอาจทำให้จีนต้องรับมือกับผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้าสู่จีน