‘วิโรจน์’ ส่งหลักฐานส่วยสติ๊กเกอร์ถึงมือจเรตำรวจ หวังเจ้าหน้าที่ขยายผลเชิงลึก เอาผิดคนเกี่ยวข้อง บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการสุจริต

‘วิโรจน์’ ส่งหลักฐานส่วยสติ๊กเกอร์ถึงมือจเรตำรวจ หวังเจ้าหน้าที่ขยายผลเชิงลึก เอาผิดคนเกี่ยวข้อง บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการสุจริต

วันที่ 8 มิถุนายน 2566 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สุรเชษฐ์ ประวีณวงค์วุฒิ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เดินทางไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อนำเอกสารหลักฐานกรณีส่วยสติ๊กเกอร์ที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยมอบให้พรรคก้าวไกล ส่งต่อให้จเรตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับบัญชาการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รักษาราชการแทน ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง

วิโรจน์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า วันนี้ได้รับการประสานงานที่ดีทั้งจากจเรตำรวจแห่งชาติและตำรวจกองบัญชาการสอบสวนกลางที่เข้าร่วมรับฟังด้วย โดยตนได้นำข้อมูลเบาะแสเบื้องต้นที่รวบรวมจาก 2 ส่วน คือจากพลเมืองดีและจากสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลปลายทาง ส่งให้จเรตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการขยายผลข้อมูลและการสอบสวนเชิงลึก วันนี้จึงเหมือนเป็นการทวนสอบข้อมูลว่าตรงกันหรือไม่ เพื่อให้ตำรวจดำเนินการด้วยความมั่นใจยิ่งขึ้น

วิโรจน์กล่าวว่า ความคาดหวังจากการยื่นข้อมูลครั้งนี้ เบื้องต้นคือหวังว่าการรังควาน กลั่นแกล้ง รังแก สร้างความเดือดร้อนเพื่อเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการที่สุจริตต้องเบาบางลงหรือหมดไป และนอกจากส่วยสติ๊กเกอร์ เรายังหวังว่าการเรียกรับผลประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะทุเลาลงและหมดไปเช่นกัน เช่น การพิจารณาดำเนินคดีกับผู้สนับสนุนการบรรทุกเกินน้ำหนัก

วิโรจน์กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่จะหารือกับจเรตำรวจแห่งชาติ คือการค้าสำนวนของพนักงานสอบสวนบางคน ปัจจุบันพิกัดน้ำหนักบรรทุกอยู่ที่ 50.5 ตัน แต่บางครั้งเมื่อเข้าด่านชั่งน้ำหนัก รถบางคันเกินมา 100-200 กิโลกรัม ซึ่งโดยพฤติการณ์ ย่อมรู้ได้ว่าไม่ได้มีเจตนาบรรทุกน้ำหนักเกิน เพราะถ้ามีเจตนา มักจะเกินไปหลายสิบตัน แต่ด้วยกฎหมายที่มีโทษถึงริบรถ ทำให้พนักงานสอบสวนบางคน ระบุเรื่องน้ำหนักเกินลงในสำนวน และเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการว่าถ้าจะไม่ใส่ข้อความนี้ ต้องจ่ายผลประโยชน์ โดยบางกรณีที่ไปถึงชั้นศาล พบว่ามีการพัวพันไปถึงอัยการบางคนด้วย

อย่างไรก็ดี ต้องย้ำว่าเรื่องนี้ไม่สามารถเหมารวมเจ้าหน้าที่หรือผู้ประกอบการทุกคนได้ ผู้ประกอบการบางคนทำเพราะจำยอม ดังนั้นวันนี้เรากำลังต้องการทำให้ทุกอย่างมีความโปร่งใสร่วมกัน

ด้าน พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้มอบหมายให้จเรตำรวจดูแลเรื่องนี้ ขณะที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางก็มีคณะทำงานดูแล เพื่อดูว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องพาดพิงใครบ้าง ยืนยันจะทำหน้าที่ให้ดีและเร็วที่สุด ใครที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นตำรวจทางหลวงหรือตำรวจส่วนอื่น ต้องรับผิดชอบ โดยหากใครมีข้อมูลเพิ่มเติม สามารถส่งมาได้ เบื้องต้นวางกรอบในการทำงานไม่เกิน 15 วัน