เผยแพร่ |
---|
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งโดยพันตรีควง อภัยวงศ์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2489 เคยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในปี พ.ศ. 2491, พ.ศ. 2519 และ พ.ศ. 2539 และหลังจากนั้นก็ไม่เคยได้เสียงข้างมากในสภาอีกเลย โดยฐานเสียงของพรรคส่วนใหญ่คือภาคใต้และกรุงเทพฯ
ย้อนกลับไป ในการเลือกตั้งปี 2539 ซึ่งเป็นปีที่ประชาธิปัตย์ ซึ่งนำโดย ชวน หลีกภัย เคยได้ที่นั่งส.ส.123 จากทั่งหมด 393 ที่นั่ง การเลือกตั้งในครั้งนั้น พรรคความหวังใหม่ ที่เพิ่งลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกประสบความสำเร็จ สามารถเฉือนเอาชนะ พรรคประชาธิปัตย์ ไปได้ 2 เสียง ทำให้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับความนิยมสูงสุด มีประชาชนเลือก 18,087,006 คน หรือคิดเป็น 31.8% มากกว่าพรรคความหวังใหม่ที่ได้ คะแนนเสียง 16,585,528 หรือคิดเป็น 29.14%
ต่อมาการเลือกตั้งปี 2544 ที่ต่อสู้กับพรรคไทยรักไทยครั้งแรก พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งส.ส. 128 จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง มีประชาชน เลือก 7,610,789 หรือคิดเป็น 26.6%
ในการเลือกตั้งปี 2548 ซึ่งเป็นการต่อสู้กับพรรคไทยรักไทย ครั้งที่สอง ครั้งนั้นไทยรักไทยกวาดเก้าอี้ไ 377 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งเพียง 96 จาก 500 มีคนเลือกประชาธิปัตย์ 4,018,286 หรือ 16.1%
แต่การเลือกตั้งในปี 2550 พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเพิ่มขึ้นมาก โดยคว้าเก้าอี้มากถึง 165 จาก 480 ที่นั่ง มีคนเทคะแนนให้ถึง 14,084,265 คน คิดเป็น 39.63% แต่ก็ยังแพ้พรรคพลังประชาชน
ขณะที่การเลือกตั้งในปี 2554 ที่แข่งขันกันระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แห่งพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์คว้าเก้าอี้ 150 เก้าอี้ จาก 500 เก้าอี้ แพ้ให้กับพรรคเพื่อไทย โดยมีประชาชนเลือก 11,435,640 หรือคิดเป็น 35.15%
ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งส.ส. 53 จาก 500 เก้าอี้ มีประชาชนเลือก 3,947,726 คน คิดเป็น 11.11% ของทั้งหมด
ในการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ประชาธิปัตย์ได้ที่นั่ง ส.ส. 25 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง มีประชาชนเลือกพรรค
925,349 คน จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด หรือคิดเป็น 2.34% ถือเป็นสัดส่วนคะแนนเสียงต่ำสุดที่ประชาธิปัตย์เคยได้
เฉลิมชัย วางมือเลขาฯ
กระทั่งมาถึงจุดที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกาศวางมือจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์แล้วในวันนี้
โดยผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ ต้องรอให้ตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จก่อนหรือไม่ ว่ามีการกำหนดวันแล้วคือ 13 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายภายในระยะเวลา 60 วัน ตามข้อบังคับพรรค
เมื่อถามว่าเลขาธิการพรรคยังเป็นคนเดิมหรือไม่ นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ไม่ ผมหยุดอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าการหยุดบทบาทแต่ยังให้คำปรึกษาใช่หรือไม่ นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ถ้าเขามาปรึกษาก็ปรึกษาได้ ถ้าไม่มาปรึกษาตนก็อยู่บ้าน
ส่วนหัวหน้าพรรคคนใหม่ต้องเป็นคนรุ่นใหม่ใช่หรือไม่ นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ก็ต้องให้กรรมการและที่ประชุมใหญ่เขาเลือกแล้วกัน เมื่อถามอีกว่ามีการวางคนไว้แล้วหรือไม่ นายเฉลิมชัยกล่าวปฏิเสธว่า ไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ กรณีที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ต้องเป็นมติของพรรค ผมก็เป็นสมาชิกพรรคคนหนึ่งเท่านั้นหลังจากนี้
เมื่อถามอีกว่าก่อนหน้านี้มีข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ไปพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาล นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ไม่ใช่ อย่าไปเชื่อข่าวลือ
เมื่อถามย้ำว่าแล้วข่าวจริงคืออะไร นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ข่าวจริงเดี๋ยวก็เจอ
จุรินทร์รับผิดชอบ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อรับผิดชอบผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 15 พ.ค. โดยนายจุรินทร์ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยได้แสดงความขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้ง ต่อมา นายจุรินทร์ ได้ส่งข้อความผ่านไลน์กลุ่มของพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีข้อความระบุว่า
ผมขอถือโอกาสนี้แสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งและขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทุกคน
ขอขอบคุณท่านเลขาธิการพรรค ท่านชวน ท่านบัญญัติ ท่านอภิสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค คณะทำงานทุกชุด เพื่อน ส.ส. กก.บริหารและสมาชิกพรรคทุก ๆ ท่านที่ช่วยกันทำหน้าที่สุดความสามารถด้วยความซาบซึ้งใจยิ่ง
พร้อมนี้ผมขอแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้ง ด้วยการลาออกจาก ตำแหน่งหัวหน้าพรรค
และขอให้ทุกท่านช่วยกันทำหน้าที่เพื่อพรรคต่อไป สำหรับผมไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ผมพร้อมอยู่เคียงข้างพรรคเสมอ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาตลอดชีวิตการเมืองของผมครับ
สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ นับว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ประชาธิปัตย์แพ้ศึกเลือกตั้งอย่างราบคาบ โดยได้ ส.ส. เพียง 25 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 22 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 3 คน