ส่วยรถบรรทุกลุกลาม ผู้การทางหลวงสั่งฟัน ลั่น ถ้าเงินไม่พอกินไปทำอาชีพอื่น

ผู้การทางหลวงตั้งคณะทำงานตรวจสอบสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุก หากพบตำรวจเอี่ยวพร้อมดำเนินคดีไม่ละเว้น ย้ำไม่พอกินให้ไปทำอาชีพอื่น

จากกรณีที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับสติกเกอร์รถบรรทุกที่ระบุว่ามีการใช้เป็นสัญลักษณ์การจ่ายส่วย ซึ่งต่อมา พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้รับทราบแล้ว และไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งการให้กองบังคับการตำรวจทางหลวงดำเนินการตรวจสอบโดยด่วนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีการกระทำผิดในรูปแบบส่วยทางหลวงตามที่ปรากฏตามข่าวหรือไม่ หากมีความผิดก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ด้าน พล.ต.ต. เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) กล่าวว่า จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ หากพบว่ามีผู้ประกอบการรายใดกระทำผิดกฎหมายก็จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด รวมไปถึงหากมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง นอกเหนือจากการดำเนินการทางกฎหมายแล้วก็ต้องถูกดำเนินการทางวินัยด้วยอย่างเคร่งครัด โดยยืนยันว่าจะทำอย่างจริงจังแบบถอนรากถอนโคน

สำหรับเรื่องของสติกเกอร์หรือป้ายต่างๆ จากข้อมูลที่ได้มีการประสานกับสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยมาก่อนหน้านี้ ก็พบว่ามีภาคเอกชนและกลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง ได้รวมกลุ่มกันจัดทำสติกเกอร์หรือป้ายต่างๆ แต่ที่ต้องมาตรวจสอบดูก็คือเรื่องดังกล่าวมีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ถ้าหากพบก็ต้องดำเนินการ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่กระทำความผิด แต่หากประชาชนมีข้อมูลเบาะแสก็สามารถส่งเข้ามาให้ตรวจสอบได้ ยืนยันว่ากองบังคับการตำรวจทางหลวงจะทำอย่างเต็มที่

พล.ต.ต. เอกราช กล่าวต่อไปว่า ปัญหาเรื่องส่วยเป็นปัญหาที่มีมานาน แต่เรื่องส่วยคือปลายเหตุ ปัญหาที่เป็นต้นเหตุก็คือเรื่องรถบรรทุกบรรทุกเกินกำหนด จึงมองว่าการแก้ไขจำเป็นต้องแก้ในภาพรวม โดยเฉพาะเรื่องการแก้กฎหมาย โดยในปัจจุบันกฎหมายให้ดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ไม่ใช่ผู้ประกอบการรถบรรทุก ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการไม่ได้รับผลกระทบจึงเกิดการกระทำความผิดซ้ำ

ดังนั้นอาจต้องพิจารณาเรื่องการแก้ไขกฎหมาย เช่น หากจับรถบรรทุก 1 คัน พบว่าบรรทุกหนักเกิน 20% ก็ให้สั่งยึดรถของผู้ประกอบการรายดังกล่าวทุกคัน เชื่อว่าคงสามารถยึดรถบรรทุกได้หลายหมื่นคัน ก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด รวมถึงอาจต้องย้อนถามไปยังสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยด้วยว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเห็นแก่ตัวจนต้องบรรทุกหนักเกินกำหนด ก็ต้องไปแก้ไขในมิติอื่นๆ ด้วย

พล.ต.ต. เอกราช กล่าวต่ออีกว่า ในวันนี้เวลา 13.00 น. ได้เรียกผู้กำกับการและสารวัตรของสถานีตำรวจทางหลวงทั่วประเทศเข้ามาประชุมเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการกำหนดทิศทางการทำงาน และยืนยันว่ากรณีดังกล่าวหากมีเจ้าหน้าที่คนใดกระทำความผิดก็ต้องรับผิดชอบผลการกระทำของตัวเอง

“จะมาอ้างว่าอาชีพตำรวจไม่พอกินไม่ได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ให้ไปเลือกอาชีพอื่น ไม่ใช่มาใช้อาชีพตำรวจไปหากิน ตนขอให้ความมั่นใจในฐานะผู้นำของกองบังคับการตำรวจทางหลวงว่าจะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด” พล.ต.ต. เอกราชกล่าว

ทั้งนี้ หากประชาชนมีเบาะแสหรือต้องการร้องเรียน สามารถแจ้งได้ที่เฟซบุ๊กตำรวจทางหลวงได้ตลอดเวลา

—————-

ด้านนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงประเด็นที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล โพสต์กรณีรถบรรทุกหลายคัน ติดสติ๊กเกอร์ที่เป็นสัญลักษณ์ให้ผ่านทางได้แบบไม่ต้องเสียเงินว่า ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ทางสหพันธ์จะนำข้อมูลและหลักฐานไปมอบให้ที่พรรคก้าวไกล และยืนยันว่าสมาชิกของสหพันธ์ทั้ง 10 สมาคม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เพราะได้ลงนามในสัญญา (เอ็มโอยู) ร่วมกันไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าสมาชิกจะไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับเรื่องผิดกฎหมาย แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้มีอยู่จริง และผมมีหลักฐานทั้งรายชื่อบริษัทและเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดกฎหมาย

“เรื่องนี้ถือเป็นความผิดร้ายแรง และมีการกระทำผิดเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2539 แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเรารับรู้ถึงเรื่องการซื้อขายสติ๊กเกอร์ และสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่จะสามารถช่วยพรรคก้าวไกลได้ คือเราต้องให้ความร่วมมือโดยการให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง อาทิ ที่มาของสติ๊กเกอร์กว่า 50-60 แบบ คลิปเสียง และคลิปวิดีโอที่มีการแอบถ่ายเอาไว้ว่าเรื่องนี้มีจริง แต่เราไม่สามารถโพสต์ลงในสื่อโซเชียลได้ เพราะเกรงว่าจะผิด พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงจะนำข้อมูลไปให้พรรคก้าวไกล เพื่อหาผู้กระทำผิดมารับโทษต่อไป” นายอภิชาติกล่าว

นายอภิชาติกล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีรถบรรทุกที่จ่ายค่าสติ๊กเกอร์อยู่ประมาณ 150,000-200,000 คัน จากจำนวนรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประมาณ 1,500,000 คัน ซึ่งในจำนวนที่จ่ายสติ๊กเกอร์ส่วยรถบรรทุกเฉลี่ยต่อเดือนมีมูลค่านับพันล้านบาท ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้น ตรวจสอบควบคุมผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้างไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด เพราะปัจจุบันนี้เหมือนกฎหมายเอาผิดได้แต่ผู้รับจ้าง เมื่อเจอกระทำผิดดำเนินการตามกฎหมาย อาทิ จับ ปรับเงิน ยึดรถ และจำคุก

ส่วนผู้ว่าจ้างและผู้ที่มีอิทธิพลเกี่ยวกับส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก เมื่อมีเบาะแสอยากให้ตรวจสอบ หากกระทำผิดอยากให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมายด้วย เพราะปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับการบรรทุกน้ำหนักเกิน ส่งผลให้โครงข่ายถนนและสะพานเกิดชำรุด พังเสียหายก่อนถึงอายุการใช้งาน ซึ่งถนนมีอายุการใช้งาน 20 ปี แต่เมื่อมีการบรรทุกน้ำหนักเกินใช้งาน 2-3 ปี พังแล้ว รวมทั้งเกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนน ภาครัฐต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงถนนทั่วประเทศปีละหมื่นล้านบาท และเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนน