เผยแพร่ |
---|
เรืองไกร ให้ถ้อยคำกกต. พร้อมยื่นหลักฐานเพิ่ม ปม‘พิธา’ ถือหุ้นสื่อ อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. สั่ง ธัญญ์วาริน พ้นส.ส. ชี้กกต.ต้องสอบย้อนหลังลักษณะลงสมัครส.ส.ปี 62
เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เข้าให้ถ้อยคำต่อกกต. กรณีขอให้ตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพรรค กรณีการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ว่าเป็นการกระทำผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า วันนี้นอกจากมาให้ถ้อยคำ ยังยื่นหลักฐานเพิ่มเติมเป็นกรณีคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญ ที่ 20/2563 ที่วินิจฉัยว่านายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครส.ส.เนื่องจากถือครองหุ้นสื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็นส.ส.สิ้นสุดลง โดยให้มีผลนับแต่วันสมัครส.ส.คือวันที่ 6 ก.พ. 2562 โดยเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวยึดตามตัวบทกฎหมายเพียงว่า นายธัญญ์วาริน ถือหุ้นหรือไม่ และบริษัทยังประกอบกิจการ หรือมีความสามารถที่จะกลับมาประกอบกิจการได้หรือไม่ โดยไม่ได้วางหลักต้องถือมากน้อยแค่ไหน
โดยนายธัญญ์วาริน ถือหุ้นอยู่ใน 2 กิจการ ต่างจากนายพิธา ที่ถือหุ้นไอทีวี แต่ต่อมาในปี 2564 กกต.ได้ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ มาวินิจฉัยผู้สมัครส.ส.ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 รวม 4 คำวินิจฉัย และสั่งดำเนินคดีอาญาด้วย
ทำให้เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงนายพิธา ถือหุ้นไอทีวีตั้งแต่ปี 2551 และปี 2562 นายพิธา เป็นผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่ หากวันนี้กกต.จะวินิจฉัยเรื่องการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ต้องยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของกกต. โดยต้องย้อนไปพิจารณาว่าการถือหุ้นไอทีวีดังกล่าวของนายพิธา ก่อนปี 2562 และถือต่อเนื่องมานั้น เป็นเหตุให้นายพิธา สิ้นสมาชิกภาพการเป็นส.ส. ปี 2562 โดยต้องมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่นายพิธา ยื่นสมัครคือวันที่ 6 ก.พ.ใช่หรือไม่
“การที่นายพิธา ได้เป็นส.ส. มีการโหวตกฎหมายต่างๆไป ไม่ได้มีผลทำให้กฎหมายเหล่านั้นต้องเสียไป แต่เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินเพิ่มผู้ช่วยผู้ชำนาญการรวมอีก 8 คน อาจมีปัญหาได้ จากข้อเท็จจริงนี้จำเป็นที่กกต. จะต้องย้อนกลับไปตรวจสอบนายพิธา เมื่อปี 2562 ว่าสิ้นสมาชิกภาพส.ส.หรือไม่ โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของกกต.ที่ 1-4 /2564 1,2,3 และ 9/2564 ที่ลงนามโดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.เอง” นายเรืองไกร กล่าว
เมื่อถามว่าได้ยื่นตรวจสอบการสิ้นสมาชิกภาพของนายพิธา เมื่อปี 2562 ด้วยหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ถือเป็นการกระทำ 2 กรรม เมื่อพบว่านายพิธา ยังคงถือหุ้นบริษัทไอทีวี ในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566 และในฐานะหัวหน้าพรรคที่เซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส. เขตเกือบ 400 เขตและ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ขอให้วินิจฉัยว่านายพิธา จะมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98(3) ในฐานะผู้สมัคร ส.ส. หรือไม่ และในฐานะผู้ยินยอมให้พรรคก้าวไกลเสนอชื่อเป็นนายกฯ จึงนำมาตรา 98 มาบังคับใช้ด้วย
ส่วนที่นักวิชาการหญิงรายหนึ่ง แสดงความเห็นในลักษณะว่าไม่มีปัญหา เมื่อขายหุ้นเรื่องก็จบ ตนเห็นว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก และจะทำให้สังคมและประชาชนเกิดความเข้าใจผิดอย่างมาก โดยหากผิดก็ผิดตั้งแต่วันลงสมัครรับเลือกตั้ง ตนได้เก็บรวมรวมข้อมูลที่มีการเผยแพร่เรื่องผ่านสื่อออนไลน์แล้ว
ทั้งนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 23 และ 24 บังคับครอบคลุมไปถึงบัญชีนายกฯด้วย เมื่อออกแล้วมาเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อให้ได้ 376 เสียง ตนก็เห็นว่าขาดคุณสมบัติและหากได้รับเลือกเป็นนายกฯ ตนจะร้องเรียน อาจส่งผลให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ จึงอยากให้นักกฎหมาย ดอกเตอร์ ศาสตราจารย์ พิธีกร ให้ไปทำความเข้าใจข้อกฎหมายอย่างถ่องแท้ อ่านกฎหมายให้แม่นๆ
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า นอกจากร้อง กกต.โดยตรงตอนนี้แล้ว เมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งแล้ว ตนก็ไปขอร้องให้ ส.ส.และ ส.ว. หรือสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อส่งคำร้องให้ตรวจสอบคู่ขนานไปกับการตรวจสอบของ กกต. ตามแนวทางที่เคยยื่นคำร้องให้ตรวจสอบสมาชิกภาพ นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ เมื่อปี 2551 จนนายสมัครพ้นจากนายกฯ เพราะคำพิพากษาว่าเป็นลูกจ้าง จากหลักฐานใบหักภาษี ภงด.3 ไม่ได้ยึดตามพจนานุกรม เช่นเดียวกับกรณีของนายพิธา ก็มีหลักฐานเป็นใบ บมจ.6 ตามพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด จึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักฐานที่ถูกต้อง ซึ่ง กกต.ควรจะต้องนำไปประกอบการพิจารณา ส่วนผู้วินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่าขณะนี้ประเทศกำลังเดินหน้า การมายื่นร้องคัดค้านจะทำให้สะดุดหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า เป็นคนละประเด็นกัน ประเทศก็เดินหน้าไป ส่วนคนที่ทำผิดหรือเข้าข่ายถูกตรวจสอบก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า วันนี้มาให้ถ้อยคำต่อ กกต.เป็นครั้งแรก แต่ได้ยื่นเอกสารเรื่องดังกล่าว 6 ครั้ง และยังมีเอกสารเพิ่มเติมอีก คือคำสั่งศาลปกครองและมติครม. เกี่ยวกับบริษัท ไอทีวี และการรายงานสถานการณ์จนถึงปี 2564
ทั้งนี้ นายเรืองไกร ได้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัท ไอทีวี ยังดำเนินการกิจการอยู่