โพล ชี้ คนไทยห่วงตั้งรัฐบาลใหม่ กลัวได้นายกฯที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ปชช.

 

คนไทย 67.83% กังวลจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กลัวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ ปชช.

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สํารวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศกรณี “คนไทยกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่” จํานวนทั้งสิ้น 1,352 คน (สํารวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2566 สรุปผลได้ดังนี้

1.จากการเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทําให้ประชาชนสนใจติดตามข่าวการเมืองมากขึ้นหรือไม่
อันดับ 1 ติดตามมากขึ้น 72.63%
อันดับ 2 ติดตามเท่าเดิม 21.30%
อันดับ 3 ติดตามน้อยลง 6.07%

2.ณ วันนี้ ประชาชนรู้สึกเครียดกับเรื่องใดมากที่สุด
อันดับ 1 ปากท้อง/ค่าใช้จ่าย 52.14%
อันดับ 2 การจัดตั้งรัฐบาล 51.90%
อันดับ 3 ค่าน้ำมัน/ค่าไฟ 48.31%
อันดับ 4 เศรษฐกิจของประเทศ 44.35%
อันดับ 5 การเลือกนายกรัฐมนตรี 43.14%

3.เมื่อมีความรู้สึกเครียดมากขึ้น ประชาชนแก้ปัญหาอย่างไร
อันดับ 1 คุยกับเพื่อน/คนรัก/คนที่ไว้ใจได้ 46.38%
อันดับ 2 พักผ่อนให้มากขึ้น 42.88%
อันดับ 3 คุยกับคนในครอบครัว 34.04%
อันดับ 4 ดูหนัง/ซีรีส์/ฟังเพลง 32.22%
อันดับ 5 ออกกําลังกาย 28.87%

4.ประชาชนมีความกังวลกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่
อันดับ 1 กังวล 67.83%
– เพราะกลัวว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน, พรรคที่ได้เสียง
ข้างมากอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล, พรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน, เล่นเกมการเมืองมาก
เกินไป, กังวลการโหวตของ ส.ส. และ ส.ว. ฯลฯ
อันดับ 2 ไม่กังวล 32.17%
– เพราะให้เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย เชื่อมั่นว่าพรรคก้าวไกลจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้, น่าจะตกลง
ร่วมกันได้ลงตัว, การจัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ฯลฯ

5.ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่
อันดับ 1 ไม่เชื่อมั่น 58.33%
อันดับ 2 เชื่อมั่น 41.67%

หมายเหตุ ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคํานวณในแต่ละข้อ)

สรุปผลการสํารวจ : คนไทยกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ พบว่า จากการเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทําให้ประชาชนสนใจติดตามข่าวการเมืองมากขึ้น ร้อยละ 72.63 ณ วันนี้ ประชาชนรู้สึกเครียดกับเรื่องปากท้อง/ค่าใช้จ่ายมากที่สุด ร้อยละ 52.14 รองลงมาคือ การจัดตั้งรัฐบาล ร้อยละ 51.90

ทั้งนี้ เมื่อมีความรู้สึกเครียดจะแก้ปัญหาด้วยการคุยกับเพื่อน คนรัก คนที่ไว้ใจได้ ร้อยละ 46.38 เมื่อสอบถามว่า ประชาชนมีความกังวลกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่ พบว่า กังวล ร้อยละ 67.83 เนื่องจากกลัวว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน พรรคที่ได้เสียงข้างมากอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน มีการเล่นเกมการเมืองมากเกินไป และกังวลการโหวตของ ส.ส. และ ส.ว.

ส่วนความเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นไปด้วยความราบรื่น พบว่า ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 58.33 และเชื่อมั่น ร้อยละ 41.67 จากผลการสํารวจสะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาทําให้คนไทยติดตามข่าวการเมืองมากขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง

รวมไปถึงกังวลกับการเลือกนายกรัฐมนตรีว่าอาจจะไม่ได้ตามที่ต้องการ เพราะกลไกของการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นมีเงื่อนไขของการโหวตจาก ส.ว. ร่วมด้วย กอปรกับภาพความขัดแย้งของพรรคฝั่งประชาธิปไตยที่มีข่าวให้เห็นรายวัน จึงทําให้ประชาชนยังไม่แน่ใจว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความราบรื่น

 

ชัยธวัช เผยกรอบหารือ 8 พรรค ตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่าน รบ. แย้มโควต้ารมต.ลงตัวหลัง 30 พ.ค.

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะผู้ประสานงานจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ 7 พรรคการเมือง กล่าวถึงกรอบการหารือพรรคร่วมรัฐบาลในวันอังคารที่ 30 พฤษภาคม ที่พรรคประชาชาติ (ปช.) ว่า ประเด็นหลักคือแนวทางการทำงานร่วมกันหลังจากนี้ เพื่อเตรียมการจัดตั้งรัฐบาล

โดยเรื่องสำคัญจะเป็นเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อนำวาระข้อตกลงเอ็มโอยูมาลงในรายละเอียดว่าจะมีการผลักดันนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง เนื่องจากการจะดำเนินนโยบายต้องมีการเตรียมการ หรือดูว่ามีวาระสำคัญใดที่ค้างจากรัฐบาลชุดก่อน รวมถึงนโยบายที่ใช้งบประมาณจะต้องนำมาพิจารณาว่าแต่ละพรรคจะผลักดันนโยบายใดบ้าง และต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งว่าใครจะรับผิดชอบงานส่วนใดต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะแกนนำพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะมีข้อเสนอในวงประชุมอย่างไร นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังคงเป็นเรื่องของการกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันให้ชัดเจน ต้องมีการจัดประชุมร่วมกันประจำหรือไม่ โดยเฉพาะสิ่งที่เสนอคือ คณะทำงานในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น จะช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างไร้รอยต่อให้ได้มากที่สุด

เมื่อถามว่า โควต้าการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีจะเป็นไปตามกระแสข่าวที่ออกมา คือ เพื่อไทย และก้าวไกล คนละ 14 เก้าอี้หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องนี้ชัดเจน แต่ทางพรรคก้าวไกลได้รับทราบถึงข้อเสนอความต้องการของแต่ละพรรคอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะนำวาระในการผลักดันในเชิงนโยบายเป็นหลักว่านโยบายนี้จะเป็นวาระหลักสำคัญที่พรรคนั้นดูแลรับผิดชอบ แล้วค่อยมาดูว่าเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดบ้าง โดยหลังจากการประชุมหารือในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ คาดว่าน่าจะได้ตัวเลขที่ชัดเจนขึ้น

เมื่อถามว่า ได้เตรียมทาบทามคนนอกเข้ามาเป็นรัฐมนตรีบ้างแล้วหรือไม่ และเป็นกระทรวงใด นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังไม่ได้ลงรายละเอียด เพราะตอนนี้แต่ละพรรคยังไม่ได้ข้อสรุปว่าพรรคใดรับผิดชอบกระทรวงไหน เรื่องบุคลากรจะได้ข้อสรุปจริงๆ จะเป็นช่วงหลังจากการโหวตนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ส่วนตัวมองว่าการให้คนนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเรื่องปกติ มีความเป็นไปได้ ซึ่งจะพิจารณาคนที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมฝ่ายบริหาร ไม่ได้จำกัดเฉพาะ ส.ส.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนพรรคก้าวไกลที่จะเข้าร่วมหารือร่วมกับอีก 7 พรรคการเมือง จะเป็นแกนนำพรรคทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค