เปิดรายละเอียด เอ็มโอยู 23 ข้อ ตั้งรัฐบาลก้าวไกล-เพื่อไทย

เปิดรายละเอียด ร่างเอ็มโอยู 23 ข้อ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่โรงแรมคอนราด ถนนวิทยุ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำ 8 พรรคที่จะร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) ในการจัดตั้งรัฐบาล ในเวลา 16.30 น.นั้น เบื้องต้นร่างเอ็มโอยูมี 23 ข้อดังนี้

1.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่: ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

2.การแสดงออกทางการเมือง: เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคม ทุกพรรคจะร่วมผลักดันการอำนวยความยุติธรรมในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองผ่านกลไกรัฐสภา

3.สมรสเท่าเทียม: ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนนับถือ

4.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม: ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพและกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยึดความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

5.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร: เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ

6.สันติภาพชายแดนใต้: ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในจังหวัดชายแดนใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง

7.กระจายอำนาจ: ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และปราศจากทุจริต

8.แก้คอร์รัปชัน: แก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน

9.ฟื้นฟูเศรษฐกิจ: ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่้เติบโตอย่างเป็นธรรม

10.กฎหมายด้านเศรษฐกิจ: ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งใบอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้ SME พร้อมมุ่งเน้นการเติบโตของ GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรมและสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

11.สุราเสรี: ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

12.ปฏิรูปที่ดิน: ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้ของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

13.ค่าไฟฟ้า: ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

14.งบประมาณใหม่: จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นวิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)

15.สวัสดิการ: สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว

16.ยาเสพติด: แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน

17.กัญชาเสรี: นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา

18.การเกษตร: ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

19.ประมง: แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน

20.สิทธิแรงงาน: ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

21.ปฏิรูประบบการศึกษา: ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

22.แก้ปัญหาฝุ่น-โลกร้อน: สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด

23.นโยบายต่างประเทศ: ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียน และรักษาสมดุล การเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ