จับตาประชาธิปัตย์ เอาไง? หลังคนในเห็นต่าง โหวต-ไม่โหวต ให้เสียงข้างมากตั้งรัฐบาล

จากปัญหาอุปสรรคของรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้พรรคการเมืองที่ชนะรวบรวมเสียงข้างมากเกิน 250 เสียง จาก 500 เสียง ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ การโหวตนายกฯจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของการประชุมร่วม 2 สภา

แม้พรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงมากสุดจะสามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลกว่า 313 เสียง ซึ่งเป็นเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฏรแล้วนั้น ก็มีความกังวลว่าเสียงจะไม่เกินกึ่งหนึ่งของการประชุมร่วมรัฐสภา จนไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีและตั้งรัฐบาลได้

เกิดการตั้งคำถามไปยัง 250 ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งเป็นกลไกจากรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งออกแบบมาให้มีอำนาจในการร่วมเลือกนายกฯด้วย โดยมีแนวโน้มว่า ส.ว.จำนวนไม่น้อย จะสกัดขัดขวางไม่โหวตให้พรรคเสียงข้างมากในขณะนี้ตั้งรัฐบาลได้

กระทั่งมีคำถามบางส่วนส่งต่อกลับมายังพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ไม่ใช่พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมว่า ควรแสดงจุดยืนยกมือปิดสวิตซ์ส.ว. โหวตให้กับพรรคการเมืองเสียงข้างมากตั้งรัฐบาลไปก่อน ซึ่งเป็นการแสดงการเคารพต่อหลักการประชาธิปไตยและมติมหาชน

 

ปชป.พ่ายแพ้ครั้งประวัติศาสตร์

 

ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งที่ออกมาอย่างไม่เป็นทางการ พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. เขต 22 คน จากก่อนเลือกตั้ง ที่ภาคใต้ตั้งเป้าหมาย “ทวงคืนปักษ์” 40 ที่นั่ง แต่ได้มาไม่ถึงครึ่ง หรือ 17 ที่นั่ง

รวมกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คน ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายชวน หลีกภัย รวมเบ็ดเสร็จ 24 ที่นั่ง ไม่มีสิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ความพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.น้อยที่สุด นับตั้งแต่มีหัวหน้าพรรคมาทั้งหมด 7 คน

จึงเกิดการตั้งคำถามจากสังคมไปยังพรรคประชาธิปัตย์เช่นกันต่อจุดยืนการปิดสวิตซ์ ส.ว. ด้วยการโหวตให้พรรคเสียงข้างมากตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ

คนที่พูดเรื่องนี้คนแรกคือ  สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ กรณีขณะนี้มีกระแสเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์เลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ เพื่อเป็นการปิดสวิตช์ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ นายสาธิตกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นแนวทางเชิงอุดมการณ์อย่างหนึ่งของการปิดสวิตช์ ส.ว. ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์พูดมาตลอด แต่ส่วนตัวตนเป็น ส.ส.สอบตอบ น้ำหนักในการพูดก็น้อยลง แต่ด้วยอุดมการณ์ส่วนตัวคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเดินไปในแนวทางที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น และเรื่องดังกล่าวคงมีการนำไปพูดคุยกันในพรรค

 

เด็กปชป. แนะพรรคยืนบนหลักการที่ถูกต้อง

 

ต่อมา นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน” บุตรชายของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า การประกาศสนับสนุนพรรคที่ชนะเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ทำได้ เพื่อให้พรรคอันดับหนึ่งตัดสินใจทางการเมืองง่ายขึ้น ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังกับเกมการเมือง โดยพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องไปร่วมรัฐบาลกับเขาเพราะ   ประการแรก เขาไม่ได้เชิญ และแม้ว่าเขาจะเชิญก็ไม่ควรไป เพราะประการที่สอง จำนวนสมาชิกที่เราได้รับความไว้วางใจได้รับเลือกตั้งเข้ามาถือว่าต่ำมาก ซึ่งสะท้อนว่าบุคลากร แนวทาง และนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้รับการยอมรับในระดับที่จะบอกใครได้ว่าเราได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปบริหารประเทศได้

แต่การแสดงท่าทีดังกล่าว แม้จะไม่ได้ส่งผลให้เสียงสนับสนุนถึง 375 แต่จะสะท้อนวุฒิภาวะทางการเมืองของพรรคฯ และการยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง

 

ตามด้วย นายชนินทร์ รุ่งแสง รักษาการกรรมการบริหารพรรคและรักษาการผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตบางพลัด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ช

เพื่อให้เป็นไปตามครรลอง และเพื่อยุติอำนาจที่ไม่ชอบธรรมของวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง ผมจึงไม่ติดหากมือประชาธิปัตย์จะยกสนับสนุนให้คนที่มาจากพรรคการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้ามาได้เป็นนายกฯ แต่รับปากและยืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่ยกเลิกมาตรา 112 และไม่แก้ไขในส่วนที่จะทำให้ใครๆ สามารถมากล่าวร้ายถึงสถาบันได้ตามใจชอบ” นายชนินทร์ระบุ

อลงกรณ์ ชงถกหนุนพิธา เคารพเสียงส่วนใหญ่

ขณะที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลต้องราบรื่นและรวดเร็ว พรรคประชาธิปัตย์ประกาศชัดเจนในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ว่าจะฟังเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งเพื่อกำหนดจุดยืนของพรรคหลังทราบผลการเลือกตั้ง เมื่อประชาชนกว่า 14 ล้านคน เลือกพรรคก้าวไกลเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ทั้ง ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

ดังนั้น พรรค ปชป.ต้องเคารพเสียงของประชาชนด้วยการลงมติสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีเงื่อนไขร่วมรัฐบาล​ หากพรรคก้าวไกลสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จ

โดยตนจะเสนอแนวทางนี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดรักษาการ ซึ่งจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า รวมทั้งแกนนำและสมาชิกพรรคทั่วทั้งประเทศ

ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องช่วยผ่าทางตันที่อาจเกิดขึ้นในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องใช้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาอย่างน้อย 376 เสียง เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วตามเจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้พรรคประชาธิปัตย์จะโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล แต่พรรค ปชป.ก็พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาลพรรคก้าวไกล

อุดมการณ์ประชาธิปัตย์ต้องดูแลสถาบัน

ขณะที่เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกพรรคบางคนเกี่ยวกับการจะเสนอให้กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการมีมติเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือส.ส.ของพรรค โหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเรื่องนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของสมาชิกบางคนเช่นเดียวกันกับตนที่โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วย  เพราะการโหวตเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. และเชื่อว่าแต่ละคนสามารถใช้ดุลพินิจและรับผิดชอบเองได้โดยไม่ต้องมีใครชี้นำ ขณะเดียวกันขณะนี้พรรคไม่มีกรรมการบริหารเพราะหัวหน้าพรรคได้ลาออกไปแล้วหากจะใช้มติของกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการมาชี้นำส.ส.ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำในสถานการณ์เรื่องนี้

“ขณะนี้นโยบายของพรรคก้าวไกลเรื่องแก้ไขจนถึงยกเลิกมาตรา112 ยังเป็นชนวนปัญหาและว่าที่ผู้นำประเทศอย่างนายพิธาก็ยังไม่ได้ปลดล็อคหรือว่าถอดฟืนออกจากกองไฟจึงไม่ควรเข้าไปอยู่ในสมการที่จะกลายเป็นตำนานให้พรรคประชาธิปัตย์จะต้องมาตอบคำถาม เพราะหลักการของพรรคประชาธิปัตย์มั่นคงเป็นเสาหลักที่ชัดเจนอยู่แล้ว เราจะไหลไปตามกระแสโดยไม่ยึดหลักที่ดีงามไว้บ้างแล้วประเทศชาติจะพึ่งพาใคร DNAและอุดมการณ์ของเราคือ การยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นธรรมต่อประชาชนและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากเราจะมีพลวัตสิ่งนั้นมันคือเครื่องมือแห่งการเปลี่ยนแปลงคือความทันสมัยและAIหรือนวัตกรรมต่างหากที่เราจะเปลี่ยนไม่ใช่ไปเปลี่ยนหลักการ และอุดมการณ์” นางมัลลิกา กล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แจ้งว่า พรรคประชาธิปัตย์นัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ชุดรักษาการ ในวันที่ 24 พ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 100 ปี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ภายในที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ สำหรับกำหนดการนัดประชุมดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนหลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

คาดว่าในที่ประชุม กก.บห.ครั้งนี้ จะมีผู้หยิบยกประเด็นการจะให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลหรือไม่ขึ้นมาพิจารณาด้วย