“สุรเกียรติ์” ถก”อันนัน”ที่เจนีวา แลกแนวคิดแก้ขัดแย้งรัฐยะไข่

เมื่อวันที่ 28 พย. ศาสตราจารย์ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาการนำข้อเสนอของคณะกรรมาธิการนายโคฟี่ อันนัน เรื่องรัฐยะไข่ไปปฏิบัติ หรือประธานคณะที่ปรึกษาเรื่องรัฐยะไข่ ที่นาง ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาตั้งขึ้นได้เข้าพบนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาขาติ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาและเสนอแนวทางการแก้ปัญหารัฐยะไข่และได้ศึกษาเสร็จสิ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ดร.สุรเกียรติ์ ได้กล่าวถึงที่มาของการเชิญตนเป็นประธานคณะที่ปรึกษาในการพิจารณานำข้อเสนอของนายโคฟี่ อันนันไปปฏิบัติ โดยได้แสดงความชื่นชมข้อเสนอดังกล่าวว่าได้ทำการศึกษามาอย่างดีและครอบคลุมทุกเรื่องที่สำคัญ เช่นวิธีการรับผู้อพยพลี้ภัยกลับเมียนมา การรักษาความปลอดภัยให้ผู้ลี้ภัยการตรวจสอบสัญชาติ การช่วยเหลือด้านการศึกษาและสาธารณสุขเป็นต้นและรายงานการศึกษาเป็นที่ยอมรับจากสังคมระหว่างประเทศ

นายโคฟี อันนัน เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีมากที่นางออง ซาน ซู จีตั้งคณะที่ปรึกษานี้โดยมี ดร.สุรเกียรติ์ ร่วมงานด้วยและทำหน้าที่เป็นประธานเพื่อช่วยให้คำแนะนำการนำข้อเสนอของกรรมาธิการไปปฏิบัติ

ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดในการสร้างสันติภาพ ความเข้าใจและการลดความรุนแรงในรัฐยะไข่ และเห็นว่านางออง ซาน ซู จีได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการเจรจากับบังคลาเทศในกระบวนการส่งกลับผู้ลี้ภัยและในการปฏิบัติตามข้อเสนอต่างๆของนายโคฟี่ อันนันในขณะที่สถานการณ์ยังมีความอ่อนไหว และต้องการความเข้าใจและสนับสนุนจากสังคนระหว่างประเทศ

ประเทศอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยทุกฝ่ายทำความเข้าใจและสนับสนุนให้เมียนมาแก้ปัญหารัฐยะไข่ได้ราบรื่นเพราะเป็นประเด็นที่อาจกระทบความมั่นคงในภูมิภาคและประเทศไทยหากมีคนอพยพลี้ภัยทางเรือออกมาเป็นจำนวนมาก

ในการหารือนี้มีนายอลัน ดอส ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิโคฟี่ อานัน และนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวาเข้าร่วมการหารือด้วย

ทั้งนายโคฟี่ อันนัน และดร. สุรเกียรติ์ ได้ตกลงที่จะต่อสายถึงกันหากมีประเด็นอะไรเพิ่มเติมในช่วงการทำงานของคณะที่ปรึกษาในอีก 1 ปีข้างหน้า ดร.สุรเกียรติ์ เห็นว่าคำแนะนำต่างๆของนายโคฟี่ อันนันรวมถึงการเล่าถึงประสบการณ์การทำงานใน 1 ปีที่ผ่านมาของคณะกรรมาธิการของนายโคฟี่ อันนันทั้งการพบหารือฝ่ายต่างๆในเมียนมา และการพบหารือกับคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติและประเทศอาเซียนเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการทำงานของคณะที่ปรึกษาใน  1 ปีข้างหน้าเป็นอย่างมาก