เช็กชื่อ เลือกตั้ง’66 คนไทยใช้ปากกาสั่งสอน งูเห่าชื่อดัง ตายเรียบ

“งูเห่า” ในการเมืองไทย เป็นการเปรียบเปรยถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งลงมติขัด ฝืน หรือแย้งกับมติของพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัด เพื่อที่จะได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จากฝ่ายที่ตนเองโหวตลงคะแนนให้ เปรียบเสมือนงูเห่าในนิทานอีสป ที่ได้รับการช่วยเหลือโดยชาวนา แต่กลับแว้งกัด ทำร้ายชาวนาผู้มีพระคุณของตนเองจนถึงแก่ความตาย

คำว่า “งูเห่า” ในการเมืองไทย ถูกบัญญัติใช้ครั้งแรกใน ปีปลาย 2540 เมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยขณะนั้น กล่าวถึง ส.ส. กลุ่มปากน้ำ นำโดยนายวัฒนา อัศวเหม ที่สังกัดพรรคประชากรไทย แต่กลับยกมือโหวตให้ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่พรรคประชากรไทยมีมติสนับสนุนพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ผลที่สุดก็คือ พรรคประชากรไทยต้องกลายเป็นฝ่ายค้านในสภา

เมื่อถึงปี 2562 คำเรียก “งูเห่า” ถูกนำกลับมาได้รับความสนใจและถูกพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง คือ กรณี ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ 4 คน ได้แก่  นางสาวศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี  และ พันตำรวจโทฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี ได้ลงมติผ่านพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล  และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 อันสวนทางกับมติพรรคที่มีมติให้ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว รวมถึงการลงมติอีกหลายครั้งในสภา จน ส.ส. ทั้ง 4 คน ต้องถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ในท้ายที่สุด กลายเป็น 4 งูเห่าชุดแรกที่ถูกมติขับพ้นพรรค เป็นปฐมบทตำนานงูเห่าอนาคตใหม่ที่สร้างความเจ็บปวดให้พลพรรคส้มตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา

ปัญหางูเห่าของอดีตพรรคอนาคตใหม่ หนักขึ้นเรื่อยๆหลังจากมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ในปี 2563 โดยมี 10 สส. โหวตไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี 6 คน

กลุ่มนี้ ได้แก่ นายกฤติเดช สันติวชิระกุล สส.แพร่, นายกิตติชัย  เรืองสวัสดิ์ สส.ฉะเชิงเทรา, นายฐิตินันท์ แสงนาค สส.ขอนแก่น, ร.ต.ต.มณฑล โพธิ์คาย สส.กทม., นายวิรัช พันธุมะผล สส.บัญชีรายชื่อ, นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี สส.กทม., นายสมัคร ป้องวงษ์ สส.สมุทรสาคร, นายสำลี รักสุทธี สส.บัญชีรายชื่อ, นายอนาวิล รัตนสถาพร สส.ปทุมธานี และ นายเอกการ ซื่อทรงธรรม สส.แพร่

ต่อมาเมื่อตั้งพรรคก้าวไกลอย่างเป็นทางการ มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค 10 สส. กลุ่มนี้ให้เหตุผลว่า ไม่มีพรรคอนาคตใหม่แล้ว จึงสามารถย้ายไปไหนก็ได้ ส่วนใหญ่เลือกไปกับภูมิใจไทย

งูเห่าระลอกต่อมา ประกอบด้วย นายคารม พลพรกลาง สส.บัญชีรายชื่อ, นายเกษมสันต์ มีทิพย์ สส.บัญชีรายชื่อ, นายเอกภพ เพียรพิเศษ สส.เชียงราย, นายขวัญเลิศ พานิชมาท สส.ชลบุรี และ นายพีรเดช คำสมุทร สส.เชียงราย ลงมติสวนมติสำคัญของพรรค โหวตคะแนนไว้วางใจให้กับนายอนุทิน ซึ่งครั้งนี้ พรรคก้าวไกลเลือกที่จะใช้ดองงูเอาไว้ ไม่ขับออก

โดยส.ส.เหล่านั้น ก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งนี้

หลังผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.2556 เสร็จสิ้น โดย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานคะแนนอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว  พบว่า ผู้สมัคร ส.ส.ที่เป็นอดีต ส.ส.ทั้งในสังกัดพรรคอนาคตใหม่ และ พรรคก้าวไกล ต่างสอบตกชนิดทิ้งห่างอันดับ 1 กันทั้งสิ้น ดังนี้

นายคารม พลพรกลาง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ร้อยเอ็ด เขต 6 ได้ 16,306 คะแนน พ่ายให้กับ นายกิตติ สมทรัพย์ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนน 36,878 คะแนน

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จ.เชียงรายเขตที่ 1 ได้ 15,508 คะแนน ได้คะแนนอันดับ 3 พ่ายให้กับ นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ พรรคก้าวไกล คะแนน 38,398

นายพีรเดช คำสมุทร ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จ.เชียงราย เขต 6 ได้อันดับ 3 คะแนน 15,914 คะแนน พ่ายให้กับ นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล คะแนน 31,623 คะแนน

นายขวัญเลิศ พานิชมาท ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จ.ชลบุรี เขต 6 อันดับที่ 4 ได้ 4,538 คะแนน พ่ายให้กับ น.ส.กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ อันดับ 1 ได้ 37,572 คะแนน

นางศรีนวล บุญลือ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จ.เชียงใหม่ เขต 9 อันดับ 4 ได้ 12,847 คะแนน พ่ายให้กับ นายนเรศ ธำรงทิพยคุณ อันดับ 1 ได้ 31,107 คะแนน

นายเอกการ ซื่อทรงธรรม ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จ.แพร่ เขต 2 อันดับ 4 ได้ 3,354 คะแนน พ่ายให้กับนายนิยม วิวรรธนดิฐกุล อันดับ 1 ได้ 32,845 คะแนน

นายกฤติเดช สันติวชิระกุล พรรคภูมิใจไทย ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จ.แพร่ เขต 3 อันดับ 4 ได้ 9,717 คะแนน พ่ายให้กับนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อันดับที่ 1 ได้ 32,446 คะแนน

นายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จ.ฉะเชิงเทรา เขต 1 อันดับที่ 7 ได้ 1,223 คะแนน พ่ายให้กับนางฐิติมา ฉายแสง อันดับ 1 ได้คะแนน 35,488 คะแนน

นายฐิตินันท์ แสงนาค ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จ.ขอนแก่น เขต 1 อันดับที่ 7 ได้ 904 คะแนน พ่ายให้กับ นายวีรนันท์ ฮวดศรี อันดับ 1 ได้ 33,759 คะแนน

ร.ต.ต.มณฑล โพธิ์คาย ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กทม. เขต 22 อันดับ 4 ได้ 7,283 คะแนน พ่ายให้กับนายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ อันดับ 1 ได้ 43,083 คะแนน

นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กทม. เขต 26 อันดับ 6 ได้ 2,282 คะแนน พ่ายให้กับ นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ อันดับ 1 ได้คะแนน 46,570 คะแนน

นายอนาวิล พรรคภูมิใจไทย ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย จ.ปทุมธานี เขต 3 อันดับ 3 ได้ 15,570 คะแนน พ่ายให้กับ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว อันดับ 1 ได้ 43,096 คะแนน

น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จ.ชลบุรี เขต อันดับ 4 ได้ 807 คะแนน พ่ายให้กับนายยอดชาย พึ่งพร อันดับ 1 ได้ 30,459 คะแนน

พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ จ.จันทรบุรี เขต 1 อันดับ 3 พ่ายให้กับนายวรายุทธ ทองสุข อันดับ 1 ได้ 37,600 คะแนน

นายจารึก ศรีอ่อน ผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ จ.จันทรบุรี เขต 2 อันดับ 4 ได้ 10,992 คะแนน พ่ายให้กับ น.ส.ปรัชญาวรรณ โชยสืบ อันดับ 1 ได้ 34,894 คะแนน