‘สฤณี’ยกคำพิพากษาคดี ‘ชาญชัย’ ผู้สมัครพรรค ปชป. ถือหุ้นสื่อ เป็นบรรทัดฐาน คดี ‘พิธา’

(10 พ.ค.) สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน นักแปลชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง “พัฒนาการ” ของคำตัดสินศาลฎีกาเรื่อง “พัฒนาการ” ของคำตัดสินศาลเรื่อง “ผู้สมัคร ส.ส. ถือหุ้นสื่อ” มีเนื้่อหาดังนี้

ก่อนอื่น มาตราเจ้าปัญหาคือ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98(3) ซึ่งบัญญัติห้ามไม่ให้ “บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

เจตนารมณ์ของมาตรานี้ (ซึ่งต้องบอกว่า ล้าสมัยและไร้ความหมายไปแล้วในยุคที่ทุกคนเป็นสื่อได้) ก็คือ ไม่ต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. ใช้ “สื่อในมือตัวเอง” สร้างอิทธิพล โปรโมทตัวเองหรือชักจูงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
แต่สิ่งที่ทำให้มันเป็น “มาตราเจ้าปัญหา” ใช้กลั่นแกล้งกันได้ง่ายดาย ก็คือ มาตรานี้ดันใช้ทั้งคำว่า “เจ้าของ” และคำว่า “ผู้ถือหุ้น” ทั้งที่ในความเป็นจริง ลำพังการเป็นแค่ผู้ถือหุ้นรายย่อย (ถือหุ้น 0.001% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท เป็นต้น) ไม่ได้ทำให้ใครมีสิทธิสั่งการบริษัทสื่อนั้นๆ ให้ทำตามความประสงค์ได้
มาตรานี้มีศาลที่เกี่ยวข้องสองศาล คือ ศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ถ้าสรุปง่ายๆ คือ ตัดสินคดีก่อนวันเลือกตั้ง) และศาลรัฐธรรมนูญ (ตัดสินคดีหลังรู้ผลเลือกตั้ง)

ดังนั้น ถ้าศาลจะใช้กฎหมายข้อนี้ให้ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็ต้องดูว่า
A. บริษัทที่ผู้สมัครถือหุ้นอยู่นั้น “ทำสื่อ” จริงๆ หรือไม่ และ B. ผู้สมัครรายนั้นถือหุ้นในสัดส่วนมากพอที่จะสั่งบริษัทสื่อนั้นๆ หรือมีอำนาจควบคุมหรือไม่ (ข้อนี้ต้องดูหลักฐานอื่นประกอบ เช่น ตำแหน่งกรรมการ ฯลฯ)

ถ้าดูแบบนี้ คำตัดสินที่เป็นไปได้ ก็มีคร่าวๆ 3 กรณีด้วยกัน

1. กรณีที่แย่ที่สุด ก็คือถ้าศาลตัดสินโดยไม่ดูทั้ง A และ B เลย ดูผิวเผินแค่ว่า บริษัทนั้นๆ มีคำว่าสื่อ อยู่ในรายการวัตถุประสงค์ของกิจการ (ซึ่งก็เป็น template มาตรฐานที่แทบทุกคนก็ใช้ตามนั้นแหละ) — นี่คือกรณีที่เขียนวิจารณ์ในบทความ (เคสนี้ศาลฎีกาตัดสิน)

2. กรณีที่ดีขึ้นมาอีก ก็คือการตัดสินโดยดูจาก “ข้อเท็จจริง” (ข้อ A ข้างต้น) นั่นคือ ดูว่าบริษัทที่ผู้สมัครถือหุ้นอยู่นั้น “ทำสื่อ” จริงหรือไม่ — แนวการให้เหตุผลแบบนี้ใช้ในคำตัดสินหลายสิบคดี เมื่อปี 2563 ช่วงที่ ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดนร้องเรื่องนี้กันระนาว สุดท้ายศาลตัดสินให้คดีส่วนใหญ่ “ไม่ผิด” โดยดูข้อเท็จจริงอย่างที่บอก (เคสเหล่านี้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน)

3. กรณีที่ดีที่สุด แน่นอนหมายถึงการตัดสินตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นั่นคือ ดูแค่ว่าบริษัทที่ถือหุ้นอยู่นั้น ยัง “ทำสื่อ” อยู่ อย่างเดียวไม่พอ ต้องดูด้วยว่าถือหุ้นในสัดส่วนมากพอที่จะมีอำนาจควบคุมหรือสั่งการหรือไม่ (ข้อ A และ B ข้างต้นประกอบกัน) — เราได้เห็นคำตัดสินกรณีที่ดีที่สุดนี้แล้ว ในคำพิพากษาเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมานี้เอง เคสที่ คุณชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ถูก กกต. นครนายก ตัดสิทธิ์เป็นผู้สมัคร ส.ส. เพียงเพราะถือหุ้น AIS 200 หุ้น (คลิก อ่านคำพิพากษาโดยย่อกรณีคุณชาญชัย)

ศาลฎีกาพิพากษาชัดเจนในกรณีนี้นะคะว่า กกต. นครนายก ตีความไม่เป็นไปตามเจตนารณ์ของกฎหมาย และสั่งให้ กกต. คืนสิทธิการสมัคร ส.ส. ให้กับคุณชาญชัย

ดังนั้น ถ้าดูตามลำดับเวลา จะเห็นว่าศาลฎีกาก็ตีความข้อนี้ “ดีขึ้น” โดยลำดับ จากกรณีที่แย่ที่สุดในปี 2562 มาถึงกรณีที่ดีที่สุด ยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2566 นี้เอง

ก็หวังว่าทั้งศาลฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญ จะรักษาพัฒนาการที่ดีนี้ต่อไป คำตัดสินคดีคุณชาญชัยของศาลฎีกาละเอียดมาก ควรใช้เป็น “บรรทัดฐาน” ในการตัดสินคดีหุ้นสื่ออื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดในตอนนี้ รวมคดีหุ้น ITV ของคุณพิธา และคดีในอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากการฟ้องร้องกลั่นแกล้งกัน

จนกว่าเราจะแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตราเจ้าปัญหานี้ได้สำเร็จ และห้ามการกลั่นแกล้งกันด้วยกฎหมายของ “นักร้อง” ทั้งหลายที่ควรไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์กับประเทศจริงๆ
มารอติดตามกันต่อไป

อ่านบทความเพิ่ิมเติม “อันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (อีกที): กรณี “หุ้นสื่อ” ของผู้สมัคร ส.ส.”