รองผอ.องค์การกระจายเสียงฯ แจง “ไอทีวี” เลิกกิจการแล้ว-ถอดหุ้นออกจากตลาดแล้ว

รองผอ.องค์การกระจายเสียงฯ แจงปมไอทีวี เลิกกิจการไปแล้วตั้งแต่ปี 2550 แต่ที่ยังอยู่ เพราะมีเรื่องฟ้องร้องกับสำนักปลัดสำนักนายกฯ

วันที่ 10 พ.ค.2566 จากกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัครส.ส.และแคดดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) หรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้นนั้น

นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) โพสต์เฟซบุ๊ก anupong chaiyariti ชี้แจงถึงกรณีไอทีวีว่า สรุปสาระสำคัญของบริษัทไอทีวี จากรายงานประจำปี 2565

1.หยุดประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวีตั้งแต่ 24.00 น.วันที่ 7 มี.ค.2550 สืบเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)

2.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย delist ถอดหุ้นไอทีวีจากการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 24 กค.2557

3.ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการฟ้องร้องพิพาททางกฏหมายกับ สปน. สืบเนื่องจากกรณีอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า

-การบอกเลิกสัญญาของ สปน. ไม่ชอบด้วยกฏหมาย

-ให้ สปน.ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,890 ล้านบาท

3.1 ต่อมา สปน.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอาญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของ สปน.

3.2 ม.ค.2564 สปน.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา

4.ปีบัญชี 2565 ไอทีวี มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ 20.5 ล้านบาท (ผลตอบแทนจากตราสารหนี้และตราสารทุน) กำไรสุทธิ 8.5 ล้านบาท

5.ไอทีวี มีบริษัทย่อย 1 บริษัท คือ บ.อาร์ตแวร์มีเดีย ให้เช่าอุปกรณืผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนต์และรายการโทรทัศน์ และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ สถานะปัจจุบันของบริษัท คือ หยุดประกอบกิจการ

6.กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่โดยพฤติการณ์มีอิทธิพบต่อการกำหนดนโยบายและการดำเนนิงาน บ.ไอทีวีในปัจจุบัน คือ บ.อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

7.การรักษาสถานะความเป็นนิติบุคคลของ บ.ไอทีวี เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับ สปน. (ความเห็นผู้เขียน)