กกต.แจง หลังเลือกตั้งล่วงหน้าปัญหาเพียบ ยัน ทุกปัญหาแก้ไขได้

กกต.แจงยิบหลังเลือกตั้งล่วงหน้าปัญหาเพียบ ยันทุกปัญหาแก้ไขได้ ชี้ กปน.เขียนรหัสเขตผิด ตรวจสอบได้รับรองส่งถึงเขตผู้มีสิทธิ แจ้งความเอาผิดมือดีฉีกเอกสารแนะนำผู้สมัคร พร้อมขุดข้อมูลขนคนลงคะแนน

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 7 พฤษภาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. แถลงข่าวสรุปภาพรวมการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ว่า หลังปิดหน่วยลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าไป 1 ชั่วโมงแล้ว อยู่ระหว่างการคำนวณว่ามีผู้มาใช้สิทธิจำนวนเท่าไหร่ แต่คาดการณ์ด้วยสายตา คาดว่าไม่น่าจะน้อยกว่า 70% สถานการณ์ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ใช้เวลาเฉลี่ย 3-5 นาที ต่อคน

ส่วนปัญหาอุปสรรคมีอยู่ 3 อย่าง 1. อากาศร้อน 2. บางหน่วยสถานที่คับแคบเมื่อเทียบสัดส่วนผู้มาลงคะแนน ทำให้รอคิว และแออัดบ้างบางจุด และ 3. สภาพการจราจรติดขัด

ส่วนปัญหาในการอำนวยความสะดวกกับประชาชน และการลงคะแนน ประเด็นแรก คือ การจ่าหน้าซองผิดเขต แต่อยากให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสบายใจว่าบัตรถึงเขตที่ท่านมีชื่อในทะเบียนอย่างถูกต้อง เพราะมีระบบการตรวจสอบ โดยในการจ่ายหน้าซอง จะมีประธานเขต จังหวัดเขตเลือกตั้ง และรหัสเขต สิ่งที่ใช้ตรวจสอบคือรหัสเขตเลือกตั้ง ที่ประชาชนเคยบอกว่าทำไมไม่เอารหัสไปรษณีย์ เพราะจะตรวจสอบอีกครั้งว่า ถ้าหากกรอกเขตผิดพลาดก็จะรู้จากรหัสเขตเลือกตั้ง ดังนั้น จึงไม่ใช่รหัสไปรษณีย์ตั้งแต่ต้น

นายแสวง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังตรวจสอบจากกระดาษจดลำดับที่ ตอนที่เข้าไปที่หน่วยเลือกตั้ง หรือเรียกว่าติ้วเล็ก ซึ่งจะบอกเขตเลือกตั้ง จังหวัด รหัสเขตเลือกตั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเป็นคนจดและมอบให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไปเข้าคิวออกเสียงลงคะแนน อย่างไรก็ตาม การกปน.ที่จ่ายบัตรที่ระบุเขตคาดเคลื่อน อาจจะเกิดจากชุดที่ใช้ลงคะแนน เช่น ชุดที่ 4 อาจจะสำคัญผิดว่าเป็นเขตที่ 4 แต่ตัวรหัสกรอกถูกต้อง เพราะกรอกตามติ้วเล็ก ซึ่งจะเก็บไว้ทุกแผ่น จึงสามารถตรวจสอบได้ทุกซองที่จะส่งไปที่เขตเลือกตั้ง จึงอยากให้สบายใจ ว่ากกต. ออกแบบมาเพื่อใช้เวลามีปัญหาจากการทำงานของคน แต่ระบบสามารถแก้ไขตรงนี้ได้ แต่อาจจะต้องใช้เวลา ซึ่งเป็นหน้าที่ของกกต.ที่ต้องทำอยู่แล้ว สำหรับกรณีหน่วยเลือกตั้งที่จังหวัดนนทบุรีที่เคยให้ข่าวว่ามีการลงรหัสเขตเลือกตั้งผิดกว่า 100 รายนั้น ตรวจสอบล่าสุดแล้วพบว่ามี 48 ราย

“อยากให้สบายใจว่าไม่ว่าจะจ่ายหน้าซองผิดอย่างไร ก็มีระบบตรวจสอบที่สามารถนำซองที่มีทั้งบัตรแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อที่ส่งไปที่เขตอย่างถูกต้อง” ส่วนกรณีที่มีการระบุว่าไม่มีการลงรายละเอียดหน้าซองเลยนั้น ก็จะส่งไปที่เขตไม่ได้ แต่ยังไม่ได้รับรายงานว่าพบปัญหานี้ แต่ก็จะมีการตรวจสอบอีกครั้ง”

เลขาธิการ กกต. กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องความผิดพลาดเรื่องเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครส.ส.ว่า มีชื่อพรรคบ้าง ไม่มีบ้าง จริงบ้าง เท็จบ้าง ซึ่งกกต.ได้รับรายงานจากผอ.กกต.จังหวัดก่อนจะเป็นข่าว และมีการแก้ไขแล้ว บางเรื่องเกิดจากคนไปฉีก ข่าวบอกว่าเกิดที่จังหวัดสุรินทร์ แต่เมื่อตรวจสอบกลับไม่ใช่จังหวัดสุรินทร์ เพราะสุรินทร์ไม่มีโรงเรียนตามที่เป็นข่าว แต่ที่จริงเป็นเหตุที่เกิดที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งรายงานมาตั้งแต่เช้าจากคนไปฉีก หายไป 3 แผ่น และเป็นข่าวแล้ว แต่ก็มีการแก้ไข เช่นเดียวกับในจังหวัดอื่นก็มีการแก้ไข และไม่มีปัญหาอีก และมีการแจ้งความแล้ว

นายแสวง กล่าวอีกว่า สำหรับบัตรเลือกตั้งที่เหลือ จะมีการเจาะ และมีการบอกจำนวน โดยกปน.จะประกาศติดที่หน้าหน่วย มีทั้งหมด 3 สำเนา ส่วนการดำเนินการหลังปิดหีบเวลา 17.00 น. ไปรษณีย์ จะมีรถทั้งหมด 475 คัน ไปรับบัตรที่อยู่ในซองลงคะแนนไปยังที่ลงคะแนนที่เลือกตั้งกลาง 475 แห่ง จากนั้น กปน.จะนับจำนวนบัตร แล้วใส่ถุงใส ส่งให้ไปรษณีย์ ตรวจนับว่าจำนวนตรงกันหรือไม่ รัดถุงใส่ในถึงอีกชั้น ใส่สายรัด เซ็นลงนามรับมอบบัตร จากนั้นจะนำบัตรมาส่งที่ศูนย์ไปรษณีย์ 15 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดูแล และมีจีพีเอสติดตาม เพื่อนำบัตรเข้ามาที่ศูนย์ใหญ่ที่หลักสี่เพื่อคัดแยก ก่อนส่งเก็บยังสถานที่ปลอดภัยในเขตเลือกตั้งทุกเขต ในวันที่ 11 พฤษภาคม พร้อมบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

นายแสวง กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์อื่นที่เกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พบว่าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการถ่ายบัตรเลือกตั้ง ซึ่งมีการแจ้งความแล้ว ส่วนกรณีขนคนไปลงคะแนน ได้รับรายงานจากรองเลขาธิการกกต. ที่ลงในพื้นที่ ชุดเคลื่อนที่เร็ว ผู้ตรวจการเลือกตั้ง อยู่ระหว่างการตรวจสอบ จึงยังไม่สามารถพูดในที่นี้ได้ แต่ทุกความเคลื่อนไหวสามารถดูแลได้ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดที่มีคนไปลงคะแนนเยอะขนคงไปลงคะแนน หรือมีพฤติการณ์ในการลงคะแนนอย่างไรมีรายงานเบื้องต้นมาอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังปิดหีบ เจ้าหน้าที่สามารถเทบัตรออกมาทำการแก้ไขข้อมูลการจ่ายหน้าซองให้ถูกต้องได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า สามารถทำได้ เพราะต้องมีกระบวนการนับเพื่อส่งไปรษณีย์ หากไม่มีการลงข้อมูลให้ถูกต้อง ไปรษณีย์ก็จะไม่สามารถส่งไปยังเขตของผู้ใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง ซึ่งผู้ไปสังเกตการณ์สามารถถ่ายวิดีโอได้