‘อนุสรี’ร่วมเวทีดีเบต เผย ภูมิใจไทย ยกปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นวาระแห่งชาติพร้อมจับมือทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมรับผิดชอบครบวงจร

‘อนุสรี’ร่วมเวทีดีเบต เผย ภูมิใจไทย ยกปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นวาระแห่งชาติพร้อมจับมือทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมรับผิดชอบครบวงจร

วันที่ 26 เมษายน 2566 ที่อาคารเทพทวารวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ เป็นตัวแทนพรรคภูมิใจไทย ร่วมเสวนาเวทีดีเบตเลือกตั้ง 66 ประชันวิสัยทัศน์ 6 ประเด็นคำถาม ในหัวข้อ “พรรคการเมืองกับความหวังในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ และคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สมาคมเพศวิถีศึกษา มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ

น.ส.อนุสรี กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยถือว่า “ผู้ที่ถูกกระทำรุนแรง คือ ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
ซึ่งพื้นฐานที่สุด คือ สิทธิที่จะอยู่อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี และถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองและอำนวยความยุติธรรมให้ผู้ถูกละเมิด” แต่การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ มิใช่หน่วยงานใดหน่วยงานเดียวที่จะรับผิดชอบต้องมีการบูรณาการ โดยมีแกนหลัก หากภูมิใจไทยได้เป็นรัฐบาล และได้รับผิดชอบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งกระทรวง พม.จะเป็นแกนหลักในการประสานงานบูรณาการกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกระบวนการยุติธรรม สาธารณสุข มหาดไทย องค์กรปกครองท้องถิ่น ศึกษาธิการ สังคม และสื่อมวลชน โดยจะต้องมีการเสนอเป็นวาระแห่งชาติ และมีแผนปฏิบัติการที่มีผู้รับผิดชอบแก้ไข
ให้ครบวงจร ตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่พบความรุนแรง ตั้งแต่ต้นทางจนถึงจบปัญหาที่ไม่ใช่แค่
จบที่ศาลตัดสิน หรือปลายทางที่ไกล่เกลี่ยให้เหยื่อยอมรับสภาพการคงสภาพการเป็นครอบครัว แม้จะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของผู้ถูกกระทำ แต่ต้องแก้ปัญหาที่ทำให้ใช้ชีวิตต่อไปได้

น.ส.อนุสรีฯ ยังได้เสนอแผนปฎิบัติการในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวว่า ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรง 2550 ที่ส่งต่อมายัง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่เจตนารมย์ของกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงให้น้ำหนักการรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวมากกว่าสิทธิของผู้ถูกกระทำจนเป็นพิมพ์เขียวให้เจ้าหน้าที่ระบบยุติธรรมมีพิมพ์เขียว หรือธงว่า เรื่องกระทำรุนแรงจบที่ไกล่เกลี่ย ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ระบบยุติธรรมเริ่มตั้งแต่พนักงานสอบสวนชายที่มีแนวคิดว่า เรื่องทำร้ายร่างกายภรรยา เป็นเรื่องปกติของสังคมที่ชายในฐานะสามี มีอำนาจเหนือกว่า จึงควรเพิ่มพนักงานสอบสวนที่เป็นสตรี และอบรมเรื่องทัศนคติรวมทั้งคัดสรรพนักงานสอบสวนชายให้มีแนวคิดความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น สถานที่สอบสวน ที่พักฉุกเฉินเพื่อให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ถูกละเมิดซ้ำ รวมทั้งการมีเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ถูกกระทำ ที่มีจำนวนมากขึ้นลงไปถึงระดับท้องถิ่น ชุมชน ก่อนจะไปถึงกระบวนการแจ้งความที่ต้องมีสภาพการรับแจ้งความที่ไม่เป็นการละเมิดซ้ำ ไม่เป็นมิตร กับผู้ถูกกระทำ”น.ส.อนุสรี กล่าว

“สังคมต้องตระหนักรู้ตั้งแต่เด็ก ในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)
มีกระทรวงศึกษาธิการควรสอนเรื่องนี้ และสื่อมวลชนต้องมีจรรยาบรรณในการเสนอข่าว หลายกรณี
สื่อสามารถเป็นที่พึ่งของผู้ถูกกระทำ ในการเสนอข่าวติดตามคดี แต่ไม่ใช่การขายข่าวโดยไม่คำนึงถึงเหยื่อผู้ถูกกระทำ บทสรุปของสุดท้ายของเหตุการณ์ไม่ใช่การชนะคดี แต่คือการที่ไปต่อได้ในชีวิต การได้รับการบำบัดเยียวยาร่างกาย จิตใจ และต้องมีกระบวนการติดตามว่าจะใช้ชีวิตต่ออย่างไร อาชีพ รายได้ หรือการศึกษา ที่ต้องเดินต่อไปด้วยความมั่นใจ น.ส.อนุสรี กล่าวท้ายสุด