สรุปข่าวรอบสัปดาห์ : ฟื้นคดีทักษิณ-พิจารณาคดีลับหลัง / บิ๊กตู่ สั่งทุกกระทรวง ฟันโซเชียลบิดเบือน / อุยกูร์แหกห้องขัง

สรุปข่าวในประเทศ

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง13 กรรมการมูลนิธิโครงการหลวง “ชุดใหม่”

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศ ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิโครงการหลวงชุดใหม่ ดังต่อไปนี้

1.นายจรัลธาดา กรรณสูต ประธานกรรมการ 2.พลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล รองประธานกรรมการ 3.พันโทสมชาย กาญจนมณี รองประธานกรรมการ 4.พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ กรรมการ 5.พลเรือเอกพงษ์เทพ หนูเทพ กรรมการ

6.นายกฤษณ์ กาญจนกุญชร กรรมการ 7.พันตํารวจเอกธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม กรรมการ 8.พลอากาศเอกอํานาจ จีระมณีมัย กรรมการ 9.พลเอกจักรภพ ภูริเดช กรรมการ 10.พลเรือเอกปวิตร รุจิเทศ กรรมการ

11.พลอากาศโทภักดี แสง-ชูโต กรรมการและเหรัญญิก 12.คุณจันทนี ธนรักษ์ กรรมการและผู้ช่วยเหรัญญิก 13.นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา กรรมการและเลขาธิการ

บิ๊กตู่ สั่ง รมว.ทุกกระทรวง ใช้ พ.ร.บ.คอมพ์ฟันสื่อโซเชียลบิดเบือน

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบปัญหามากที่สุดขณะนี้คือการให้ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพาดหัวข่าวและเฮทสปีชที่มีปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้กำชับรัฐมนตรีต้นสังกัดทุกกระทรวงให้ไปกวดขันหัวหน้าหน่วยทุกกระทรวงให้พิจารณาตรวจสอบข้อมูลในโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงตัวเองว่าผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่ ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายกับสังคมหรือไม่ หัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ จะต้องไปร้องทุกข์ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะหากไม่ทำเช่นนี้จะทำให้สื่อในโซเชียลมีเดียไปละเมิดสิทธิคนอื่นแล้วทำให้สังคมไขว้เขวในสิ่งต่างๆ ไป โดยในที่นี้รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักโฆษก และกรมประชาสัมพันธ์ต้องทำหน้าที่ร่วมกับกระทรวงต่างๆ ด้วย

“นายกฯ เน้นย้ำว่า ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะมาจ้องให้สื่อทำงานลำบาก วันนี้โลกในสากลเป็นแบบนี้ ต้องทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

ชาวอุยกูร์ 20 คนหนีจากอาคารควบคุมรัฐบาลจีนเรียกร้องไทยนำตัวส่งคืน

เมื่อเวลา 03.00 น. วันที่ 20 พฤศจิกายน ผู้ต้องหาหลบหนีเข้าเมืองชาวอุยกูร์ จำนวน 25 คน ได้หลบหนีออกจากห้องควบคุมคนต่างด้าว ภายในสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสงขลา อ.สะเดา จ.สงขลา โดยชาวอุยกูร์ใช้เศษกระเบื้องขุดเจาะผนังห้องขังเป็นช่องและใช้ผ้าห่มช่วยในการปีนหลบหนี อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จับกุมตัวชาวอุยกูร์กลับมาได้ 5 คน และยังมีชาวอุยกูร์อีก 5 คนที่ไม่สามารถหนีออกไปได้ ชาวอุยกูร์กลุ่มนี้เป็นกลุ่มสุดท้ายจากกว่า 200 คน ที่ถูกทางการไทยควบคุมตัวตั้งแต่ปี 2557 โดยในจำนวนนี้กว่า 100 คน ถูกบังคับส่งตัวกลับไปยังจีนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 หลังเกิดเหตุ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งให้ ผกก.ตม.สงขลา, รอง ผกก.ตม.สงขลา, สว.ตม.สงขลา พร้อมพวก รวม 6 นาย มาช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 โดยไม่มีกำหนด พร้อมกับสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาดังกล่าว มีความบกพร่องจนทำให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปได้หรือไม่

ด้าน พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า ได้ประสานทางการมาเลเซียให้ช่วยติดตามตัวแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาหากเกิดปัญหาขึ้นจะประสานงานกันตลอดเวลา

ขณะที่ นายหลูคัง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวว่า รัฐบาลจีนขอเรียกร้องให้หน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องส่งตัวชาวอุยกูร์ที่หลบหนีกลุ่มนี้คืนให้แก่จีนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ความคืบหน้า เมื่อเวลา 05.30 น.วันที่ 23 พ.ย. นายบุญพาศ รักนุ้ย นายอำเภอสะเดา นายบุญภพ มะเดื่อ ปลัดอาวุโส นายณพล พาหุมันโต ปลัดงานป้องกัน นายยาหมีนขวัญหมัด ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 ตำบลสำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา และเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน ควบคุมตัวนายอับดุลเลาะห์ อายุ 27 ปี และนายมูฮัมหมัด อัลดุลลา อายุ 22 ปี ชายชาวอุยกูร์ ที่แหกห้องขังตม.สงขลา ได้ในป่าละเมาะ บริเวณม.1 ต.สำนักขาม อ.สะเดา

ล่าสุดการติดตามชาวอุยกูร์ที่หลบหนีเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายมาเลเซียสามารถรวบตัวได้แล้ว 1 คน คือนายอับดุลเลาะห์ อายุ 23 ปี อยู่ระหว่างการดำเนินการส่งตัวมายังประเทศไทย สรุปถึงวันนี้สามารถติดตามชาวอุยกูร์ที่หลบหนีได้แล้วรวม 3 คนเ หลืออีก 17 คนที่ยังหนีลอยนวล

อัยการยื่นศาลฎีกานักการเมือง ฟื้นคดีทักษิณ-พิจารณาคดีลับหลัง

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน นายวันชาติ สันติกุญชร โฆษกอัยการสูงสุด แถลงมติรื้อคดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลัง พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ได้มีการแก้ไขบทบัญญัติให้สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่มีตัวจำเลย (ลับหลัง) มีผลบังคับใช้แล้ว คณะทำงานพิจารณาสำนวนคดี ที่ดำเนินการโดย คตส. และ ป.ป.ช. ที่มี นายพรศักดิ์ ศรีณรงค์ รองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงาน จึงได้ตรวจสอบคดีของอดีตนักการเมืองที่อยู่ในคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วพบว่ามีคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลไว้แล้วสองสำนวน คือคดีหมายเลขดำ อม. 9/2551 ที่กล่าวหาทุจริตออกกฎหมายแปลงสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต และคดี อม. 3/2555 ที่กล่าวหาร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งทั้งสองคดีศาลได้สั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากจำเลยหลบหนี โดยคณะทำงานได้มีความเห็นเสนอต่อ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดได้เห็นพ้องกับคณะทำงาน ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เพื่อขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวทั้งสองสำนวนดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้านายทักษิณ จำเลย

ซึ่งวันเดียวกันนี้ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้ยื่นคำร้องแล้ว หลังจากนี้ต้องรอฟังคำสั่งของศาลว่าจะพิจารณาอย่างไร