รู้จักโรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรก ภัยเงียบที่มากับหน้าร้อน

รู้จักโรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรก ภัยเงียบที่มากับหน้าร้อน

หน้าร้อนประเทศไทย จัดได้ว่าหนักหนาสาหัสไม่แพ้ใคร  โดยเฉพาะช่วงเดือน มีนาคม เมษายน นี้ถือว่าเป็นเดือน ‘พีค’ ที่พระอาทิตย์เข้าใกล้ไทยได้มากที่สุด ทำให้กลายเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด

นอกจากหน้าร้อนจะมีผลต่อจิตใจ ทำให้เราหงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ ภัยเงียบอีกอย่างที่มากับหน้าร้อนในทุกๆ ปี คือ โรคฮีตสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด ซึ่งโรคนี้เกิดได้ทุกเพศทุกวัย และมีอันตรายถึงแก่ชีวิต

  • อาการของโรคฮีทสโตรก

โรคฮีทสโตรก เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส สำหรับอาการที่เบื้องต้นได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หน้ามืด ระยะถัดมาอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รูขุมขนจะปิดจนไม่สามารถระบายเหงื่อได้ บางรายอาจถึงขั้นชักกระตุกและหมดสติ มีไข้สูง ตัวร้อนมาก ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและถึงแก่ชีวิตได้

  • สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก

สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรกคือ ไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อน ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย

  • ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดโรคฮีทสโตรก

บุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดโรคฮีทสโตรก ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ รวมถึงนักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด

  • การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

เมื่อเจอผู้ประสบเหตุเป็นลมกลางแดด ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดย การนำตัวเข้ามาในที่ร่ม จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง คลายเสื้อผ้าให้หลวม แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวและศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด หากยังไม่ฟื้น ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

  • วิธีการป้องกันโรคลมแดด

หากเริ่มรู้สึกร้อนมากๆ เนื่องจากทำกิจกรรมหรือทำงานกลางแจ้งนานๆ ให้เลี่ยงออกจากพื้นที่ โดยต้องพักจากกิจกรรมนั้น เพื่อทำให้ร่างกายเย็นลง ด้วยการเปิดพัดลม ดื่มน้ำเย็น ใช้ผ้าเย็นเช็ดหน้า เช็ดตัว เพื่อเป็นการระบายความร้อนออกจากร่างกาย ที่สำคัญควรจิบน้ำบ่อยๆ แม้ไม่รู้สึกกระหายก็ตาม นอกจากนี้ ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา และสามารถระบายความร้อนได้ดี ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่วนเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ควรจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี

นอกจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดจะส่งผลกระทบทางกาย ยังมีผลต่อสุขภาพจิตอย่างมาก ทำให้คนทั่วไปมีความหงุดหงิดง่าย ความอดทนต่อสิ่งต่างๆ ลดลง อาจจะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้ง่าย ยิ่งในช่วงกลางคืนบางครอบครัวที่อาจจะไม่ได้ใช้เครื่องปรับอากาศ ทำให้นอนหลับไม่สนิทในช่วงกลางคืน หลับๆ ตื่นๆ พอพักผ่อนไม่เพียงพอก็ยิ่งหงุดหงิดง่ายขึ้น รวมถึงมีผลต่อสุขภาพกายโดยตรง คือร่างกายอ่อนเพลีย อ่อนล้าภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายอาจจะลดลงได้

นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลและเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายของคนไทย โดยกรมสุขภาพจิต พบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นในช่วงหน้าร้อนอย่างมีนัยยะ สิ่งสำคัญสภาพอากาศร้อน จะทำให้คนหงุดหงิดง่าย หัวร้อนง่าย

ดังนั้น เวลาจะพูด หรือจะทำอะไรก็ขอให้คิดให้ดี ช้าๆลงอีกนิด….
______

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงโรค “ลมแดด! ฮีตสโตรก” โดยระบุว่า ลักษณะอากาศ ช่วงนี้ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบทั่วไป จะสูงกว่าค่าปกติ และสูงกว่าปีที่ผ่านมา อากาศร้อน อุณหภูมิ อย่างนี้ ขนาดที่ว่าต้มไข่สุก

กลางแดดปรอทขึ้นไปถึง 42 องศา อุณหภูมิขนาดนี้ ร่างกายจะมีการสูญเสียเหงื่อ นํ้า เกลือแร่มหาศาล คนสูงวัย และยังมีโรคประจําตัว เช่น ความดัน ต้องกินยาลดความดันโลหิตอยู่แล้ว มีเส้นเลือดหัวใจ สมองตีบ มีโรคไต การขาดนํ้า เกลือแร่ ทําให้เลือดข้น เกิดการ กําเริบของโรคเส้นเลือดตีบและโรคไต แม้แต่คน ที่คิดว่าแข็งแรงยังหนุ่มสาว การขาดนํ้าเกลือแร่ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในสมองจะแปรปรวน ทําให้อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศา

“แทนที่ตัวจะมีเหงื่อกลับ แห้ง ตัวร้อนจัด พูดสับสนไม่รู้เรื่อง ซึ่งถ้าถึงระดับนี้จะหมายถึงอาการ “ฮีตสโตรก” (Heat stroke) หรือ “อุณหฆาต” คือถึงตาย ไม่ใช่แค่อุณหอัมพาต อ่อนแรงเฉยๆ อาการฮีตสโตรก คนไทยอาจจะคุ้นกันดีในชื่อโรคลมแดด” หมอธีระวัฒน์ ระบุ

โรคลมแดดเป็นภาวะวิกฤติของร่างกาย ที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ เนื่องจากอากาศร้อนที่ เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง 5-10 องศาเซลเซียสในระยะเวลาสั้นๆ ภาวะนี้จะทําให้สมองรู้สึกชินชากับความร้อนที่ได้รับ จนไม่รู้สึกกระหายนํ้า ทั้งๆ ที่สมดุลนํ้าและเกลือแร่ในร่างกายเสียหาย ส่งผลให้ระดับความดันเลือดตก เลือดที่มีนํ้าเป็นส่วนประกอบไปเลี้ยงสมอง กล้ามเนื้อ และอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงพอ ทําให้เกิดอาการไตวาย หากเป็นมากๆ เซลล์กล้ามเนื้อก็จะเริ่มแหลกสลาย มีของ เสียตกตะกอนในไต ทําให้เกิด ไตวายซํ้าซ้อน และเสียชีวิตในที่สุด

โรคลมแดด จะเห็นเป็นข่าวบ่อยๆกับชาวบังกลาเทศ ทําให้มีผู้เสียชีวิตครั้งละมากๆ ฮีตสโตรกสําหรับคนไทยเป็นเพียงการเตือนแบบเบาะๆ ให้ระมัดระวัง ทั้งนี้เชื่อว่าอากาศร้อนในประเทศไทยจะไม่พุ่งสูงอย่างรวดเร็วเหมือนต่างประเทศ ที่ผ่านมา อุณหภูมิในบ้านเรา มักไต่ระดับทีละเล็กละน้อยครั้งละ 1-2 องศาเซลเซียส…